อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างทําหน้าที่อะไร

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างทําหน้าที่อะไร มาทำความรู้จักกับส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ กันเลย

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

หากพูดถึงส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้นจะแบ่งได้เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายนอกและภายใน ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจำเป็นต้องมี เพื่อที่จะทำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์นั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละชิ้นมีหน้าที่การทำงานอย่างไร วันนี้เราจึงจะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กันครับ

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายนอก

          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายนอก คือ อุปกรณ์ที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีปฏิสัมพันธ์กับตัวผู้ใช้งานโดยตรง โดยมีดังต่อไปนี้

1. หน้าจอแสดงผล (Monitor)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

จอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอมอนิเตอร์ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้แสดงผลภาพและข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งมาจากหน่วยประมวลผลกราฟิกภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้งานได้เห็น โดยในยุคสมัยก่อนจะเป็นจอซีอาร์ที (CRT) ที่มีความหนาเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยม ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาใช้จอแอลซีดี (LCD) ที่มีความบางแบบในยุคปัจจุบัน พร้อมกับอัตราส่วนจอภาพแบบ Wide Screen ที่มีความกว้างมากกว่าเดิม โดยหน้าจอมอนิเตอร์จะมีหลายขนาดและมีความละเอียดที่แตกต่างกันออกไปให้เลือกใช้ตามความต้องการ

2. เคส (Case)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

เคสคอมพิวเตอร์ คือ ส่วนที่เป็นตัวเครื่องของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ มีลักษณะเป็นกล่องขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อใช้บรรจุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ไว้ภายใน ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ด แรม การ์ดจอ ฮาร์ดดิสก์ และอื่น ๆ รวมทั้งทำหน้าที่ปกป้องอุปกรณ์ภายในจากความเสียหายต่าง ๆ เช่น ฝุ่น น้ำและของเหลว การสั่นสะเทือนและการกระแทก โดยเคสคอมพิวเตอร์จะมีให้เลือกหลายขนาด ซึ่งจำเป็นต้องเลือกขนาดให้เหมาะกับขนาดของเมนบอร์ดที่ใช้ด้วย เนื่องจากเคสที่มีขนาดเล็กจะไม่สามารถใส่เมนบอร์ดที่มีขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้การ์ดจอรุ่นระดับสูงบางรุ่นก็อาจมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถใส่ในเคสขนาดเล็กได้เช่นกัน

3. คีย์บอร์ด (Keyboard)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

คีย์บอร์ด หรือแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ป้อนข้อมูลและควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยปุ่มบนแป้นคีย์บอร์ดที่ถูกใช้กันแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันจะเรียงปุ่มแบบ QWERTY ซึ่งคีย์บอร์ดพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันจะมีหลายประเภท ทั้งคีย์บอร์ดแบบมีสาย คีย์บอร์ดไร้สาย และ Mechanical Keyboard นอกจากนี้ถ้าหากใครสงสัยว่าทำไมปุ่มบนคีย์บอร์ดถึงต้องเรียงแบบ QWERTY สามารถเข้าไปหาคำตอบกันได้ที่ : ปุ่มบนคีย์บอร์ดทำไมถึงไม่เรียงตามตัวอักษร ABC ? เรื่องนี้มีที่มา

4. เมาส์ (Mouse)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

เมาส์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการเลื่อนตำแหน่งเคอร์เซอร์ (ลูกศร) บนหน้าจอตามการเคลื่อนไหวของตัวเมาส์ เพื่อกดปุ่มคลิก ดับเบิลคลิก หรือคลิกแล้วลาก (Drag) เคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ บนหน้าจอ โดยในยุคสมัยก่อนเมาส์จะใช้กลไกแบบลูกกลิ้งที่อยู่ด้านใต้ของเมาส์เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ของเคอร์เซอร์ แต่ในปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหวของเมาส์ด้วยแสงและเลเซอร์แทนแล้ว ซึ่งก็มีทั้งเมาส์แบบมีสายและเมาส์ไร้สายให้เลือกใช้

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายใน

          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายใน คือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในเคสของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะทำงานและมีหน้าที่ต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. เมนบอร์ด (Main Board)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

เมนบอร์ด เป็นแผงวงจรหลักของคอมพิวเตอร์ที่รวมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นซีพียู แรม การ์ดจอ ฮาร์ดดิสก์ และอื่น ๆ พร้อมทั้งทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการอุปกรณ์เหล่านี้ให้ทำงานตามคำสั่ง โดยนอกจากจะถูกเรียกว่าเมนบอร์ดแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกหลายอย่าง เช่น มาเธอร์บอร์ด (Motherboard), ซิสเต็มบอร์ด (System Board) หรือลอจิกบอร์ด (Logic Board) นอกจากนี้เมนบอร์ดมักจะมีฟังก์ชันเสริมต่าง ๆ ในตัวขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่น เช่น ชิปเสียง, ตัวรับสัญญาณ Wi-Fi และพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ เป็นต้น

2. ซีพียู (CPU)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

CPU (Central Processing Unit) หรืออาจถูกเรียกในชื่ออื่น ๆ เช่น ชิปประมวลผล, โปรเซสเซอร์ หรือ Processor Chip เป็นต้น ถือเป็นเสมือนหัวใจหลักของคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมและประมวลผลข้อมูลและคำสั่งต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากหน่วยความจำ และทำการส่งต่อไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ภายในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งความเร็วในการประมวลผลของ CPU จะขึ้นอยู่กับความสูงของ Clock Speed ที่มีหน่วยเป็น GHz รวมทั้งจำนวน Core และค่า Cache

3. แรม (RAM)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

RAM (Random Access Memory) เป็นหน่วยความจำที่ใช้เก็บข้อมูลชั่วคราวในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังทำงาน โดยเมื่อโปรแกรมกำลังถูกเปิดใช้งาน ข้อมูลที่จำเป็นจะถูกโหลดเข้าสู่แรมเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าข้อมูลที่อยู่บนฮาร์ดดิสก์หรือ SSD ซึ่งจะช่วยให้ระบบสามารถทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น โดยข้อมูลในแรมจะถูกล้างทิ้งเมื่อปิดหรือรีสตาร์ตคอมพิวเตอร์ และยิ่งคอมพิวเตอร์มีความจุแรมมากก็จะช่วยให้เครื่องสามารถรันโปรแกรมหนัก ๆ ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดโปรแกรมพร้อมกันหลาย ๆ โปรแกรมได้มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การเพิ่มแรมไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้นเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วย โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : คอมพิวเตอร์ช้า ถ้าเพิ่มแรมจะทำให้เร็วขึ้นจริงหรือ ?

4. การ์ดแสดงผล (Display Card)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

Display Card มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Graphics Card หรือหลายคนมักเรียกกันติดปากว่า การ์ดจอ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ประมวลผลภาพกราฟิกเพื่อแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความสามารถในการแสดงผลภาพ 3D ด้วย ภายในจะมีชิปกราฟิกหรือ GPU (Graphics Processing Uni) ที่ทำหน้าที่ประมวลผลภาพ ซึ่งทำงานร่วมกับ VRAM ที่ใช้เก็บข้อมูลกราฟิกชั่วคราว เพื่อความรวดเร็วในการประมวลผลและแสดงผลภาพ โดยการ์ดจอนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่สุดในการเล่นเกมและการทำงานด้านกราฟิกต่าง ๆ

5. ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ฮาร์ดดิสก์ เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยภายในฮาร์ดดิสก์จะประกอบด้วยแผ่นดิสก์หลายแผ่นเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและหัวอ่าน-เขียนข้อมูล โดยตัวแผ่นดิสก์จะหมุนด้วยมอเตอร์ในขณะที่มีการอ่านและเขียนข้อมูลคล้ายกับการทำงานของแผ่น DVD/CD-ROM โดยในยุคปัจจุบันจะมีอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบใหม่ที่เรียกว่า SSD (Solid-State Drive) ซึ่งใช้เทคโนโลยี Flash Memory ที่เป็นหน่วยความจำแบบไม่มีส่วนเคลื่อนที่ โดยมีจุดเด่นในเรื่องความเร็วการอ่าน-เขียนข้อมูลที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน ความทนทาน แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าและความจุน้อยกว่า

6. พาวเวอร์ซัพพลาย (Power Supply)

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

พาวเวอร์ซัพพลาย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจ่ายไฟให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในที่ต้องการไฟฟ้าในการทำงาน โดยพาวเวอร์ซัพพลายจะทำหน้าที่รับกระแสไฟฟ้าจากปลั๊กไฟบ้านหรืออาคาร แล้วแปลงแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยพาวเวอร์ซัพพลายจำเป็นต้องมีกำลังในการจ่ายไฟที่เสถียรและเพียงพอต่อความต้องการในการทำงานของคอมพิวเตอร์ด้วย ยิ่งมีการใช้งานประมวลผลหนัก ๆ อย่างการเล่นเกมกราฟิกระดับสูง ยิ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอุปกรณ์บางชนิดที่เคยเป็นหนึ่งในสิ่งที่คอมพิวเตอร์แทบทุกเครื่องมักจะมีแต่เริ่มหายไปในยุคปัจจุบัน เช่น ไดรฟ์สำหรับใส่แผ่นฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disk) หรือไดรฟ์ DVD/CD-ROM ที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันไปใช้การเก็บไฟล์ใน USB Flash Drive, microSD Card หรือบริการฝากไฟล์ Cloud Stoage แทนแล้ว

บทความคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างทําหน้าที่อะไร อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2567 เวลา 23:36:11 289,746 อ่าน
TOP
x close