หูดหงอนไก่ ผู้ชาย เกิดจากอะไร มาทำความรู้จัก โรคหูดหงอนไก่ คืออะไร อันตรายแค่ไหน อาการหูดหงอนไก่ในผู้ชายเป็นอย่างไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน เพื่อการมีเพศสัมพันธ์อย่างไร้กังวล
หากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว หลายคนอาจนึกถึงโรคเอดส์ โรคหนองใน หรือโรคเริม แต่ความจริงแล้วยังมีอีกหลายโรคที่เปรียบเหมือนภัยเงียบใกล้ตัว หนึ่งในนั้นก็คือ หูดหงอนไก่ ที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โรคหูดชนิดนี้ถือว่าไม่ควรมองข้าม เพราะถึงแม้จะไม่อันตรายขนาดทำให้ใครเสียชีวิต แต่ก็สร้างความลำบากและทำลายความมั่นใจ รวมทั้งต้องเสียเงินในการรักษาอยู่ไม่น้อย แถมยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อย ๆ อีก หากไม่รักษาและป้องกันอย่างถูกต้อง ดังนั้นเราไปรู้จัก หูดหงอนไก่ชาย ให้มากขึ้นกันดีกว่า
หูดหงอนไก่ เกิดจากอะไร
หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อไวรัสต้นเหตุที่เรียกว่า ฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (HPV) ที่ถ่ายทอดถึงกันได้ง่าย โดยเชื้อชนิดนี้ชอบอยู่ในที่อับชื้น จึงมักทำให้เกิดรอยโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
-
มีคู่นอนหลายคน
-
มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
-
คู่นอนมีการติดเชื้อหูดหงอนไก่
-
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ
-
ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
หูดหงอนไก่ชาย อาการเป็นยังไง อันตรายไหม
ลักษณะเฉพาะของหูดหงอนไก่ จะเป็นติ่งเนื้อสีชมพู ขาว หรือสีเดียวกับผิวหนัง ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ หูดหงอนไก่ ผู้ชาย มักพบในตำแหน่งใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง อัณฑะ และรูเปิดท่อปัสสาวะ อาจพบบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางด้านหลัง
อาการของโรคหูดหงอนไก่เป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย คันถึงคันมาก ไปจนถึงมีก้อนอุดกั้นทวารหนักหรือท่อปัสสาวะ บางรายมีเลือดออกจากก้อนหูด หรือแม้แต่แสบร้อนที่อวัยวะเพศ ทั้งนี้ หูดหงอนไก่จะสามารถขยายจำนวนได้ ถ้าได้รับการกระตุ้นจากความร้อน ความชื้น ซึ่งนอกจากอาการทางกายภาพแล้ว ผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่มักมีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า อับอาย และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคู่รักตามมาได้
วิธีรักษาหูดหงอนไก่
ปัจจุบันการรักษาหูดหงอนไก่ชายทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน ตำแหน่งของโรค ความต้องการของผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย และผลข้างเคียงของการรักษา ดังนี้
1. รักษาด้วยยาทา
มีทั้งยาที่แพทย์เป็นผู้ทาให้ และยาที่ทาได้เอง ซึ่งที่นิยมในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
-
อิมิควิโมด 5% (Imiquimod/Aldara) ยานี้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ให้ร่างกายกำจัดไวรัสเอชพีวีด้วยตัวเอง โดยทา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ไม่เกิน 16 สัปดาห์ ข้อเสียคืออาจทำให้เกิดผื่นแดงได้
-
โพโดฟิลอก 0.5% (Podofilox) เป็นยาที่ยับยั้งการแบ่งเซลล์ วิธีการใช้คือทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ก่อนทายาเองทุกครั้งควรปัสสาวะให้เรียบร้อยเสมอ เพราะหลังจากทายาแล้วไม่ควรโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
2. การผ่าตัด
สามารถผ่าตัดได้หลายวิธี เช่น การใช้จี้ไฟฟ้า กรรไกร เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ หรือการขูดออก เหมาะสำหรับหูดที่มีขนาดใหญ่
3. การจี้เย็น
วิธีนี้จะอาศัยการใช้ความเย็นทำให้เซลล์แตก โดยใช้ไนโตรเจนเหลว (Cryoprobe) แต่มีอาการข้างเคียง คือ เจ็บปวด เกิดเนื้อตาย ตุ่มน้ำพอง ควรฉีดหรือทายาชาก่อนการรักษา โดยเฉพาะในรายที่มีหูดขนาดใหญ่
หูดหงอนไก่ เป็นซ้ำได้อีกไหม
แม้จะรักษาจนหายแล้ว แต่ความร้ายกาจของโรคนี้ก็คือ หูดหงอนไก่สามารถเกิดซ้ำได้บ่อยถึงร้อยละ 30-70 ที่ระยะเวลา 6 เดือน หลังสิ้นสุดการรักษา สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากคู่นอน หรือเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตัวเอง
จะเห็นได้ว่าไม่มีวิธีใดที่รักษาโรคหูดหงอนไก่ให้หายขาดได้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการมีคู่นอนคนเดียว ใส่ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี หรือฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดอวัยวะเพศ ถือเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่งครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : med.cmu.ac.th, siphhospital.com, paolohospital.com, vejthani.com