สิวที่อวัยวะเพศชาย เป็นโรคอะไร รักษาอย่างไรได้บ้าง มาดูกัน !

          สิวที่อวัยวะเพศชาย โรคใกล้ตัวที่หนุ่ม ๆ ไม่ควรมองข้าม เมื่อมีตุ่มหรือสิวขึ้นที่อวัยวะเพศชาย มาเช็กอาการเบื้องต้นเพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษากันดีกว่า

สิวที่อวัยวะเพศชาย

          เวลามีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ไม่ว่าจะเป็น ตุ่มที่อัณฑะ หรือ สิวที่อวัยวะเพศ ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าปรึกษาหรือพบแพทย์ เพราะจะรู้สึกเขินอาย ซึ่งบางครั้งโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้หากปล่อยไว้นานวันก็อาจจะเกิดผลกระทบร้ายแรงหรือเป็นโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ กระปุกดอทคอมเกรงว่าอาการเหล่านั้นจะกำเริบหนัก จึงได้รวบรวมโรคที่เกิด สิวที่อวัยวะเพศชาย มาให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้อ่านและลองวินิจฉัยหาวิธีป้องกันรักษาเบื้องต้นกันครับ

สิวที่อวัยวะเพศชาย เป็นโรคอะไรได้บ้าง ?


1. รูขุมขนอักเสบ


          ตุ่มเล็ก ๆ สีแดงและอาจมีหนองสีขาวอยู่ข้างใน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใส่เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา หรือการเสียดสีเนื่องจากสวมใส่เสื้อผ้าแน่นจนเกินไป โดยมักจะมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน และมีอาการเจ็บเล็กน้อย

          วิธีการป้องกันและรักษา : ป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาบน้ำทำความสะอาดทุกวัน ไม่ใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่รัดแน่น รักษาความสะอาดของเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้ดี ส่วนการรักษา ความจริงแล้วโรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือใช้ครีม เจล ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผสมยาปฏิชีวนะ ทาบริเวณที่อักเสบ เท่านี้ก็ช่วยให้กลับมาหายเป็นปกติได้แล้ว


2. หูดข้าวสุก


          ตุ่มกลม ๆ สีเหลืองหรือสีเนื้อ ผิวเรียบเป็นมันเงาและมีรอยบุ๋มตรงกลาง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสผิวหนังที่ติดเชื้อไวรัสโดยตรง ทางเพศสัมพันธ์ หรือทางสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน โดยคนที่เป็นจะไม่มีอาการเจ็บหรือคัน จะมีแค่รอยอักเสบ บวมแดงรอบ ๆ และมีผลต่อผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น ไม่ส่งผลต่อกระแสเลือด ระบบประสาท หรืออวัยวะภายในแต่อย่างใด

          วิธีการป้องกันและรักษา : หูดข้าวสุกจะหายได้เองภายใน 2-12 เดือน แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทำความสะอาดมือและของใช้ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่นให้ดี ที่สำคัญไม่ควรเกาหรือบีบหูด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่จุดอื่น

3. เริม


          ตุ่มน้ำใส ๆ หรือตุ่มหนองที่จะแตกออกแล้วเป็นสะเก็ดแผล โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้สิ่งของร่วมกันกับคนที่ติดเชื้อ จะมีอาการเจ็บปวด แสบคันบริเวณแผล ถ้าเป็นครั้งแรกอาการจะหนักมากถึงขั้นเป็นไข้ร่วมด้วยได้

          วิธีป้องกันและรักษา : ควรป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการคลุกคลี รวมถึงไม่ใช้เสื้อผ้า สิ่งของ ร่วมกับคนที่ติดเชื้อ ส่วนวิธีรักษา ให้หมั่นกินยาเพื่อบรรเทาอาการปวด ซึ่งโรคเริมจะค่อย ๆ หายเองใน 2-6 สัปดาห์ หากอาการรุนแรงขึ้นให้รีบพบแพทย์เป็นการเร่งด่วน

4. ซีสต์ไขมัน


          ตุ่มนูนกลมนิ่ม ๆ ผิวเรียบ มีก้อนไขมันหรือสารสีขาวอยู่ข้างใน เกิดขึ้นจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังอุดตันหรือมีความผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก ทำให้ไขมันสะสมตกค้างจนกลายเป็นก้อนซีสต์ ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคัน แต่หากทิ้งไว้นานจะขยายตัวใหญ่ขึ้นจนเกิดอาการอักเสบได้

          วิธีป้องกันและรักษา : ป้องกันได้ยาก เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากใต้ผิวหนัง แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ ส่วนวิธีการรักษา ถ้าตัวซีสต์ไม่มีการขยายตัวจะค่อย ๆ ยุบแล้วหายไปเองได้ แต่ถ้าขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ควรพบแพทย์เพื่อขอรับยารักษาหรือเข้ารับการผ่าตัด

5. ต่อมไขมันอุดตัน


          ต่อมไขมัน หรือ Fordyce Spot ที่ขึ้นผิดตำแหน่ง ลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 0.5-1 มม. กระจายตลอดทั้งลำ โดยปกติต่อมไขมันจะอยู่บริเวณหนังศีรษะ ทำหน้าที่สร้างของเหลวที่ชื่อ Sebum เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเงางามให้กับเส้นผม หรืออยู่ตามใบหน้า ถ้าเมื่อไรเกิดอุดตันขึ้นมาก็จะกลายเป็นสิว แต่ไม่ได้ถือเป็นความผิดปกติรุนแรงอะไร ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่ระยะวัยรุ่น ฮอร์โมนเพศชายจะไปทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมเหล่านี้ทำงานมากขึ้น จึงเห็นเด่นชัดขึ้นมา

          วิธีการป้องกันและรักษา : อาจใช้ยา Tretinoin หรือกลุ่ม Roaccutane สำหรับใช้ทาสิว ความเข้มข้นที่บางสุด ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือใช้เลเซอร์จี้ออก เพื่อความสวยงาม ไม่ควรแคะ แกะ เกา อาจจะทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ รวมถึงควรอาบน้ำทำความสะอาดทุกวัน ไม่ใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่รัดแน่น หากตุ่มเป็นมานานแล้ว ไม่โตขึ้น และไม่มีอาการเจ็บหรือคัน อาจไม่ต้องทำอะไร แต่หากเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานและมีอาการเจ็บ แสบหรือคัน หรือมีขนาดโตขึ้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

6. โรคผื่นนูนพีพีพี (Pearly Penile Papules)


          ตุ่มเนื้อเล็ก ๆ สีเดียวกับผิว คล้ายสิว แต่ไม่มีหนอง ที่ขึ้นอยู่บริเวณใต้คอหยักของน้องชาย โดยส่วนใหญ่จะเกิดเป็นแถวหรือแนวรอบหัวปลาย ซึ่งหลายคนมักกังวลว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หูดหงอนไก่ หรือไม่ โดยจะพบได้บ่อยในผู้ชายที่ไม่ได้ขริบปลายอวัยวะเพศ แต่อย่างไรก็ตาม กลไกการเกิดนี้ทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด

          วิธีการป้องกันและรักษา : จริง ๆ อาการนี้ไม่ถือเป็นโรค แต่มีผลเรื่องความสวยงามและวิตกกังวล หากจะรักษาสามารถใช้เลเซอร์จี้ให้ต่อมเหล่านี้หลุด แต่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อย่าแคะ แกะ เกา เพราะอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้

          เช็กกันดูได้เลยครับว่าอาการที่เป็นตรงกับข้อมูลข้างต้นหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ทำตามวิธีป้องกันรักษาที่แนะนำได้เลย แต่เนื่องจากจุดที่เกิดขึ้นเป็นจุดซ่อนเร้นที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย หากพบอาการแปลก ๆ ที่ต่างไปจากนี้แนะนำให้เข้าพบแพทย์เฉพาะทางเป็นการดีที่สุดครับ ก่อนที่จะลุกลามจนสายเกินแก้

บทความที่เกี่ยวข้อง


ขอบคุณข้อมูลจาก : medicalnewstoday.com, tuasaude.com, healthline.com, เฟซบุ๊ก Sarikahappymen

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิวที่อวัยวะเพศชาย เป็นโรคอะไร รักษาอย่างไรได้บ้าง มาดูกัน ! อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2567 เวลา 02:52:55 243,196 อ่าน
TOP
x close