ทำความรู้จัก AI คืออะไรและมีหลักการทํางานอย่างไร ใครอยากรู้ว่า AI ในชีวิตประจําวันมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบกันได้ที่นี่เลย
ปัจจุบัน AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรียกได้ว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะมี AI มามีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นอยู่เสมอ โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้ว่า AI คืออะไรและมีหลักการทํางานอย่างไรบ้าง วันนี้เราจึงนำความรู้ในเรื่องนี้มาฝากกัน
AI คืออะไร
AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ เป็นระบบหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความสามารถในการทำงานต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาเสมือนมนุษย์ โดยจุดประสงค์หลักในการพัฒนา AI ขึ้นมาก็เพื่อให้สามารถใช้ทำงานและประมวลผลข้อมูลได้เหมือนมนุษย์ หรืออาจมีความสามารถที่เหนือกว่ามนุษย์ในบางกรณี ซึ่งในยุคปัจจุบัน AI ได้ถูกพัฒนาให้มีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งสามารถเรียนรู้และปรับปรุงความสามารถของตัวเองด้วยข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับจากมนุษย์
AI มีกี่ประเภท
AI สามารถแบ่งได้จากความสามารถและลักษณะการทำงานทั้งหมด 4 ประเภทดังต่อไปนี้
1. Reactive Machines
AI ที่มีความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ข้อมูลที่รับเข้ามาตรวจสอบและประมวลผล แต่ไม่มีความสามารถในการจดจำหรือเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น AI ที่ใช้ในระบบการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต หรือตัวละครศัตรูในเกมที่ตอบสนองต่อผู้เล่นทันที เป็นต้น
2. Limited Memory
AI ประเภทนี้พบเห็นได้มากที่สุดในยุคปัจจุบัน โดยเป็น AI ที่สามารถเก็บข้อมูลและประสบการณ์จากครั้งก่อนเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ โดยสามารถเรียนรู้และปรับปรุงได้จากข้อมูลที่เก็บไว้ในหน่วยความจำ หรือที่เรียกว่า Machine learning ยกตัวอย่างเช่น ระบบรถยนต์ที่ใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์และประสบการณ์ที่ผ่านมาในการตัดสินใจขณะขับขี่
3. Theory of Mind
AI ประเภทนี้จะมีความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ถึงแนวความคิด ความรู้สึก ความต้องการ และเป้าหมายของบุคคลอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ระบบ AI สามารถโต้ตอบและแสดงพฤติกรรมในรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
4. Self-Aware
สำหรับ AI ประเภทนี้จะมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง ว่าเป็นเหมือนตัวบุคคลหนึ่งที่มีอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงความตระหนักเกี่ยวกับสภาวะและความสามารถของตนเอง โดยในปัจจุบัน AI รูปแบบนี้ยังเป็นแนวทางวิจัยที่ค่อนข้างใหม่และยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปถึงระดับที่สามารถทำงานได้
รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ของ AI
1. Supervised learning
คือ การให้ AI เรียนรู้จากข้อมูลตัวอย่างที่ป้อนเข้าไป เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจ แยกแยะ และหาผลลัพธ์หรือคำตอบของข้อมูลใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งจัดกลุ่มภาพถ่ายว่าเป็นภาพของสุนัขหรือแมว เป็นต้น
2. Unsupervised learning
เป็นรูปแบบที่ไม่มีข้อมูลตัวอย่าง แต่จะให้ AI พยายามค้นหาโครงสร้างและลักษณะเด่นในข้อมูลด้วยตัวเอง โดยไม่มีการกำหนดรูปแบบของผลลัพธ์ที่ตายตัว ยกตัวอย่างเช่น การจัดกลุ่มข้อมูลลูกค้าที่มีลักษณะคล้ายกัน การค้นหาคำในข้อความ หรือการตรวจจับความผิดปกติในข้อมูล เป็นต้น
3. Reinforcement learning
กระบวนการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก โดยให้ AI เรียนรู้จากประสบการณ์แต่ละครั้ง ซึ่งจะได้รับการตอบรับในเชิงบวกเมื่อสามารถทำได้ดี และได้รับการตอบรับในเชิงลบเมื่อต้องปรับปรุง เพื่อให้ AI พยายามหาวิธีที่ดีที่สุดในการกระทำครั้งต่อ ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้การเล่นเกม การสร้างระบบการควบคุมหุ่นยนต์ หรือการสร้างโมเดลการเลือกที่เหมาะสมในการตัดสินใจทางธุรกิจ เป็นต้น
AI ในชีวิตประจําวันมีอะไรบ้าง
สำหรับตัวอย่าง AI ในชีวิตประจําวันที่เราสามารถพบเห็นและใช้งานกันในปัจจุบันมีค่อนข้างมากมาย ดังเช่นสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
-
การสแกนและตรวจจับเพื่อแบ่งแยกใบหน้าของบุคคล
-
การคัดกรองแยกประเภทของอีเมล เช่น อีเมลสำคัญ หรือสแปม
-
การแสดงเนื้อหาและโฆษณาตามความสนใจของผู้ใช้บนบริการต่าง ๆ
-
การทำงานของผู้ช่วยส่วนตัว เช่น Siri หรือ Google Assistant
-
ระบบเดาคำในคีย์บอร์ดของโทรศัพท์มือถือ
-
ระบบแนะนำเส้นทางตามสภาพการจราจรในแอปฯ แผนที่
-
กล้องมือถือที่ช่วยปรับภาพให้เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังถ่าย
-
รถยนต์ไร้คนขับที่สามารถเรียนรู้รูปแบบของถนนและเส้นทางได้
-
ตัวละครศัตรูหรือคู่แข่งในการเล่นเกม
นอกจากนี้ในปัจจุบันก็ยังมีการนำ AI ไปประยุกต์ใช้งานในแบบต่าง ๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ แต่งรูปที่ช่วยปรับแต่งรูปภาพให้อัตโนมัติ การวาดรูปตามคำสั่งที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป การตอบคำถามและให้ข้อมูลในสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ถาม และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งคาดว่า AI น่าจะถูกพัฒนาให้มีสติปัญญาและความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถทำได้อีกหลายอย่างในอนาคต
บทความเกี่ยวกับ AI อื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : cloud.google.com, techtarget.com, ibm.comoracle.com, forbes.com, beebom.com