วิ่งเท่าไหร่ก็ไม่เสื่อม (GMLIVE)
งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า การวิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเข่าของเราเสื่อมอย่างที่คิด เคยมีการศึกษาผู้หญิงถึง 5,000 คน พบว่า การออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงวัยกลางคน อาจทำให้คุณเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้เมื่ออายุย่างเข้า 50 ปี แต่จากผลการศึกษาล่าสุด จากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กลับพบว่า มันแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่เลย หรืออาจได้ผลตรงกันข้ามด้วยซ้ำ การออกกำลังกายด้วยการวิ่งไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อม แตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งแต่อย่างใด
ผลการวิจัยใหม่นี้แทบจะเปลี่ยนความคิดของผู้ออกกำลังกายและนักวิ่งทั้งหลายไปเลย เมื่อเจมส์ ไฟร์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตีพิมพ์ผลการวิจัยของเขาในวารสารทางการแพทย์ Archive of Internal Medicine ว่าจากการศึกษาผู้ที่วิ่งเฉลี่ยปีละ 300 - 3,000 กิโลเมตรต่อปี พบว่าหัวเข่าของพวกเขา ไม่ได้มีความแตกต่างกัน แถมยังพบอีกว่าผู้ที่วิ่งเป็นประจำดูจะมีปัญหาเรื่องการบาดเจ็บน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้วิ่งอยู่ถึงร้อยละ 39
นิตยสารไทม์ยกย่องว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งสิ่งที่จะเปลี่ยนการรับรู้ของมนุษย์ใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับการวิ่ง และยังบอกว่าก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Arthritis and Rheumatism ซึ่งทำการวิจัยผู้สูงอายุกว่า 1,279 คน ในเมืองแฟรมมิ่งแฮม (Framing- ham) รัฐแมสซาชูเซตส์ พบว่าผู้ที่กระปรี้กระเปร่าและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีอัตราความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไขข้อ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
งานวิจัยนี้ยังเปลี่ยนความเข้าใจคนอเมริกันจำนวนมากที่เชื่อว่า การอ้วนและการเจ็บข้อกระดูก อาจจะเกิดจากยีนหรือกรรมพันธุ์มากกว่าการกินในแต่ละวัน แต่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ยืนยันว่าร่างกายของคนเราสามารถพัฒนาความแข็งแรงได้ การทำให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่น (คือการยืดและหดตัวจากการออกกำลังกาย) นั้นช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับข้อต่อเหล่านี้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การวิ่งจะไม่สร้างอาการบาดเจ็บใด ๆ เลยนะครับ เพราะนักกีฬาทุกคนรู้ดีว่า อาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นมาคู่กับการออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่มันก็ดีกว่าปล่อยให้มันเสื่อมไปเฉย ๆ ใช่ไหมครับ