x close

10 ฟังก์ชั่นสุดเจ๋งที่บางคนอาจยังไม่รู้ของกล้อง Mirrorless

กล้อง Mirrorless

          หลากฟังก์ชั่นการทำงานของกล้องมิร์เรอร์เลสที่ช่างภาพทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพควรรู้

          เมื่อพูดถึงกล้องถ่ายรูปแล้ว กล้องประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้คงต้องยกให้กล้อง Mirrorless ซึ่งมาพร้อมกับฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลาย ช่วยให้ถ่ายภาพได้สนุกยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าใครยังไม่รู้ว่าฟังก์ชั่นเหล่านั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง งั้นลองไปดูข้อมูลจากนิตยสาร FOTOINFO ที่เรานำมาฝากกันเลยดีกว่าครับ

          Multi Frame NR

          เป็นฟังก์ชั่นของค่ายโซนี่ที่ปรับใช้รูปแบบการบันทึกภาพซ้ำ ๆ หลายครั้ง (ตั้งแต่ 4-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับรุ่นกล้อง) สำหรับบันทึกภาพในสภาพแสงน้อย และกล้องประมวลผลอีกครั้งให้เป็นภาพเดียวที่มีความคมชัด และ Noise ต่ำ โดยเมื่อใช้โหมดนี้ การเกิด Noise จะเท่า ๆ กับการใช้ความไวแสงที่ต่ำกว่าที่เลือกใช้ถึง 2 สตอป ซึ่งช่วยให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น เพียงพอที่จะถ่ายภาพด้วยมือ โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องนั่นเอง

          HDR

          เป็นโหมดที่มีอยู่ในกล้องหลายยี่ห้อและช่วยปรับภาพให้มีความสมดุลกันมากขึ้นระหว่างโทนมืดและโทนสว่าง ในกรณีที่มีสภาพแสงที่ต่างกันมาก ๆ โดยกล้องจะบันทึกภาพด้วยค่ารับแสงที่ต่างกัน 3 รูปแบบนั่นคือ รับแสงพอดี รับแสงโอเวอร์ และรับแสงอันเดอร์ จากนั้นจะนำภาพทั้งหมดมาประมวลผลใหม่ แล้วรวมเป็นภาพเดียวกันที่มีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งในโทนมืดและโทนสว่าง

กล้อง Mirrorless
ภาพจาก nikonusa

          Panorama

          รูปแบบของการถ่ายภาพพัฒนาให้สามารถถ่ายภาพโดยการหมุนกล้องไปตามทิศทางที่ต้องการ จากการกดชัตเตอร์ในครั้งเดียว โดยเลือกขนาดหรือความกว้างของภาพได้ เลือกทิศทางการหมุนกล้องได้ รวมทั้งเลือกถ่ายภาพพาโนรามาเป็นแนวตั้งได้ด้วย หลังจากที่บันทึกภาพจบแล้ว กล้องจะรวมภาพให้เป็นพาโนรามาโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการรวมภาพเองในโปรแกรมตกแต่งภาพในภายหลัง

          Peaking

          เป็นฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในกล้อง Mirrorless หลายยี่ห้อด้วยกันถือเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้ที่ชอบเลนส์มือหมุนเป็นอย่างมากทีเดียว โดยกล้องจะแสดงแถบสีวาวขึ้นมาในจุดหรือบริเวณที่อยู่ในระยะโฟกัส ช่วยให้ปรับโฟกัสได้ง่ายขึ้น สำหรับกล้องฟูจิฟิล์มจะมีฟังก์ชั่นพิเศษเพิ่มขึ้นอีกนั่นคือ Digital Split Image ที่เป็นการแบ่งภาพออกเป็นส่วน ๆ เมื่ออยู่นอกระยะโฟกัส และหากว่าปรับโฟกัสได้ชัดเจน ส่วนต่าง ๆ ที่ถูกแบ่งออกนั้น จะมาซ้อนทับกันได้อย่างสนิทพอดี ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบ Focusing Screen ของยุคฟิล์มมาเลยทีเดียว

กล้อง Mirrorless
ภาพจาก ebay

          Magic Frame

          เป็นการสร้างกรอบให้กับภาพของกล้องซัมซุง โดยมีรูปแบบสำเร็จมาให้เลือกใช้งานกว่า 13 รูปแบบ อาทิ Classic TV, Magazine, Wave, Old Album, Old Film, Full Moon, Billboard, Wall Art, Holiday หรือ Newspaper เป็นต้น ผู้ใช้เพียงแค่เลือกกรอบที่ต้องการ และเล็งวางองค์ประกอบให้อยู่ในเฟรมภาพ จากนั้นก็กดชัตเตอร์ถ่ายภาพเท่านั้นเอง

          Bounce Flash สไตล์ Mirrorless

          กล้อง Mirrorless หลาย ๆ รุ่นจะมีแฟลชในตัว ซึ่งเป็นแบบพับเก็บอยู่ในตัวกล้อง เวลาจะใช้ก็กดปุ่มปลดล็อกแฟลชก็จะเด้งขึ้นมา โดยตำแหน่งของหน้าแฟลชจะเยื้อง ๆ ไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้แสงแฟลชพ้นด้านหน้าเลนส์คิท เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเงาดำ ๆ ที่ด้านล่างของเฟรมภาพ

          การออกแบบก้านยืดแฟลช ให้สามารถพับได้นี่แหละครับที่เราสามารถประยุกต์ให้หน้าแฟลชเงยขึ้นได้ด้วย เพื่อใช้บาวซ์กับเพดานหรือผนัง เพื่อลดความแข็งของแสงแฟลชให้นุ่มนวลลง โดยการใช้นิ้วเกี่ยวตรงโคนแฟลช ให้หน้าแฟลชเงยขึ้น เพื่อสะท้อนกับเพดาน เมื่อถ่ายภาพแนวนอน และสะท้อนกับผนัง เมื่อถ่ายภาพแนวตั้ง

กล้อง Mirrorless

          Wi-Fi

          กลายเป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานของกล้องดิจิตอลยุคใหม่ ๆ ไปแล้ว ทั้งกล้อง Mirrorless และกล้อง DSLR ด้วย โดยสามารถเชื่อมต่อผ่านแอพพลิเคชั่นของกล้องยี่ห้อนั้น ๆ ไปยังสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ทันที โดยไม่ต้องอาศัย Wi-Fi Hot Spot ให้ยุ่งยากอีกต่อไป เมื่อต้องการเชื่อมต่อ กล้องจะส่งสัญญาณ Wi-Fi ออกมา และใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อ ด้วยการใส่ Password หรือบางรุ่นสามารถเชื่อมต่อด้วย NFC ที่เพียงแตะตามจุดสัมผัสก็สามารถเชื่อมได้อย่างง่ายดาย จากนั้นก็สามารถนำไฟล์ภาพจากกล้องโอนไปยังสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และอัพโหลดไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ได้สะดวกและในทุก ๆ ที่อีกด้วย

          นอกจากนี้บางแอพลิเคชั่น ยังสามารถควบคุมการถ่ายภาพจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนค่าการปรับตั้ง อาทิ การเลือกโฟกัส, การปรับตั้งรูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์, การปรับชดเชยแสง, การปรับไวท์บาลานซ์ หรือการเลือกระบบวัดแสงได้

          Sunshine Effect

          เป็นเอฟเฟกต์ของกล้องพานาโซนิค Lumix ที่สร้างรูปแบบภาพจำลองแสงแฟลร์จากดวงอาทิตย์ ความโดดเด่นของโหมดนี้อยู่ที่สามารถเลือกตำแหน่งของจุดกำเนิดแสงได้อย่างอิสระบนเฟรมภาพ สามารถปรับขนาดของจุดกำเนิดแสงได้หลายระดับ และสามารถปรับโทนของภาพได้ถึง 4 รูปแบบตามความพอใจ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเอฟเฟกต์กล้องพานาโซนิค Lumix คือสามารถปรับชดเชยแสง เพิ่มหรือลดความสว่างได้ และปรับเปลี่ยนรูรับแสง เพื่อควบคุมระยะชัดลึกได้เหมือนกับโปรแกรมซิฟท์อีกด้วย

กล้อง Mirrorless
ภาพจาก leica

          Time-Lapse

          เทรนด์ถ่ายภาพยอดฮิตอีกหนึ่งของผู้ใช้กล้อง Mirrorless ซึ่งหลาย ๆ ยี่ห้อ อาทิ โอลิมปัส หรือ พานาโซนิค มีโหมดนี้มาให้ในตัวกล้องเลย มีการปรับตั้งค่าการทำงานที่ไม่ยากนัก และหลังจากบันทึกภาพเสร็จ ยังสามารถรวมเป็นวิดีโอ Time-lapse ได้ในตัวกล้องอีกด้วย และยังสามารถเลือกเฟรมเรทในการรวมภาพได้หลายระดับอีกด้วย

           Tilting EVF

          เป็นการออกแบบที่โดดเด่นทีเดียว สำหรับวิวไฟน์เดอร์อิเล็กทรอนิกส์ของกล้องพานาโซนิค Lumix GX-7 ที่สามารถปรับมุมมองได้หลากหลาย นอกเหนือจากจอมอนิเตอร์ปรับระดับได้เช่นกัน ซึ่งข้อดีคือในบางครั้งเราเองก็ต้องการการมองได้อย่างชัดเจนโดยปราศจากแสงรบกวน โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพมุมมองต่างจากปกติ เช่น มุมต่ำติดพื้น ถ้าหากว่าเป็นวิวไฟน์เดอร์แบบปรับไม่ได้ ก็ต้องมองจากจอมอนิเตอร์เทน แต่ Lumix GX-7 ก็ทำลายข้อจำกัดตรงนี้ไปได้ และเป็นการออกแบบที่ใช้งานได้สะดวกจริง ๆ ครับ





ภาพจาก nikonrumors
ที่มา : หนังสือ FOTOINFO ปีที่ 11 ฉบับที่ 121 เมษายน 2558




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ฟังก์ชั่นสุดเจ๋งที่บางคนอาจยังไม่รู้ของกล้อง Mirrorless อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2558 เวลา 15:42:28 11,556 อ่าน
TOP