ช่างภาพมือใหม่ที่เพิ่งหัดใช้กล้องได้ไม่นาน อาจยังไม่เข้าใจว่า แสง มีความสำคัญต่อการถ่ายภาพมากขนาดไหน จึงเลือกที่จะมองข้ามจุดนี้ไป จนกระทั่งต้องไปเก็บภาพในที่ที่แสงน้อย แล้วได้ภาพที่ไม่สวยตามต้องการ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องแสงไม่พอ เราเลยนำเทคนิคการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยมาแนะนำกันด้วยครับ
หากคุณมีเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด f/1.8 หรือต่ำกว่า นับว่าเป็นเรื่องดีเลยล่ะ เพราะคุณสามารถใช้เลนส์ดังกล่าวเก็บภาพในภาวะแสงน้อยได้คมชัด ยิ่งเลนส์มีค่า f ต่ำมากเท่าไร รูรับแสงจะเปิดกว้างมากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ภาพสว่างและชัดขึ้น พร้อมช่วยละลายฉากหลัง สามารถสร้างโบเก้สวย ๆ ได้ ดังนั้นควรตั้งค่า f ให้ต่ำเข้าไว้ เมื่อเจอภาวะแสงที่ไม่เอื้อต่อการเก็บภาพ
2. ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ
การปรับความชัตเตอร์ต่ำ ๆ จะช่วยให้กล้องเก็บแสงได้นานขึ้น แต่อาจทำให้ภาพเบลอได้เหมือนกัน ซึ่งกรณีที่ไม่มีขาตั้งกล้อง ก็ไม่ควรตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 1/60 วินาที และในจังหวะที่กดชัตเตอร์ ควรกลั้นหายใจไว้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดการสั่นไหวของภาพได้ดีในระดับหนึ่ง
3. ไม่ควรดัน ISO สูงเกินไป
แน่นอนว่าการตั้งค่าความไวแสงสูง ๆ ที่ ISO 1600 ขึ้นไป จะช่วยให้ภาพดูสว่างยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสัญญาณรบกวน (Noise) เช่นกัน เพราะยิ่งดันสูงขึ้น สัญญาณรบกวนจะมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแสงขณะนั้นด้วย หากเลี่ยงที่จะดัน ISO สูง ๆ ไม่ได้ คุณสามารถใช้โปรแกรมแต่งภาพลดสัญญาณรบกวนในภายหลังได้เช่นกัน
4. เลือกใช้แฟลชแยก
สาเหตุที่ไม่ควรใช้แฟลชหัวกล้องในการถ่ายภาพ เนื่องจากแฟลชดังกล่าวจะยิงแสงไปที่แบบโดยตรงและให้แสงที่แข็งกระด้าง ซึ่งต่างจากการใช้แฟลชแยก เพราะคุณสามารถปรับระดับแสงและหันหัวแฟลชไปในทิศทางที่ต้องการได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มลูกเล่นในการถ่ายภาพด้วย
5. ใช้ระบบแมนวลโฟกัส
เนื่องจากในสภาวะแสงน้อย ระบบออโต้โฟกัสของกล้องจะไม่สามารถจับภาพวัตถุได้แม่นยำ แล้วจะทำให้ได้ภาพที่ไม่ชัด เพราะโฟกัสหลุดนั่นเอง ดังนั้นควรเปลี่ยนไปใช้ระบบแมนวลโฟกัส ซึ่งคุณสามารถเลือกจุดที่ต้องการจะจับภาพได้เอง แม้ว่าจะเสียเวลานิดหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้น บอกเลยว่าคุ้มค่าแน่นอน
6. อุปกรณ์ที่ควรพกติดตัว
นอกจากอุปกรณ์หลัก ๆ อย่างกล้อง เลนส์ และแฟลชแล้ว สิ่งที่ควรพกติดตัวไปด้วยคือ ขาตั้งกล้องและรีโมทชัตเตอร์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อการถ่ายภาพในภาวะแสงน้อยมากเลยทีเดียว เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยลดการสั่นไหวของภาพได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้ภาพถ่ายที่คมชัด
เป็นอย่างไรบ้างกับเทคนิคการถ่ายภาพในภาวะแสงน้อยที่นำมาฝากกัน ไม่ยากอย่างที่คิดเลยเนอะ เอาเป็นว่าใครที่อยากลองเก็บภาพในที่แสงน้อย ก็นำเทคนิคข้างต้นไปใช้ได้เลย แต่ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และความไวแสง ลองคลิกที่นี่เลย
ข้อมูลจาก expertphotography และ picturecorrect