x close

7 สิ่งที่ทำให้องค์ประกอบในภาพถ่ายขาดความน่าสนใจ

การจัดองค์ประกอบภาพ

          เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพที่ช่างภาพทำพลาด จนทำให้ถ่ายออกมาไม่สวยอย่างที่ตั้งใจ

          แม้ว่าคุณจะมีกล้องถ่ายรูปราคาแพง ฟังก์ชั่นจัดเต็มใช้งานอยู่ก็ตาม ทว่าภาพถ่ายที่ได้ก็อาจไม่สวยอย่างที่ต้องการอยู่ดี ซึ่งปัจจัยน่าจะอยู่ที่การจัดองค์ประกอบภาพที่ผิดพลาดของตัวช่างภาพเองก็เป็นได้ ดังนั้นเราเลยนำข้อผิดพลาดที่ทางนิตยสาร Fotoinfo ชี้เป้าไว้ให้มาฝากกันด้วยครับ

           เบื่อที่จะเปลี่ยนตำแหน่งกล้อง

          การเปลี่ยนตำแหน่งของกล้องเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนอารมณ์ของภาพ โดยปกติแล้วคนเรามักจะมองสิ่งต่าง ๆจากเปอร์สเปคทีฟในระดับสายตา ดังนั้นการวางตำแหน่งกล้องในระดับความสูงหรือมุมที่แตกต่างกันออกไปจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้แก่ภาพได้

          ด้วยความคิดนี้กับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีให้เลือกใช้มากขึ้น ทำให้สามารถเลือกถ่ายภาพด้วย Drone ซึ่งมีราคาถูกกว่าเลนส์บางรุ่น แต่ทำให้นักถ่ายภาพสามารถควบคุมกล้องที่อยู่บนอุปกรณ์กลางอากาศเพื่อถ่ายภาพในมุมแบบ Bird\'s Eye View ได้ ซึ่งเป็นการลดข้อจำกัดด้านมุมในการบันทึกภาพ

การจัดองค์ประกอบภาพ

          ภาพที่รกเกินไป

          บางครั้งนักถ่ายภาพอาจจะเคยเห็นภาพทิวทัศน์หรือสัตว์ป่าที่สวยงาม แต่กลับมีวัตถุอื่นที่ดึงความสนใจไปจากส่วนหลักของภาพ ซึ่งเหตุผลง่าย ๆ ก็คือมีบางสิ่งที่ไม่กลมกลืนไปกับฉากหลัง ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วฉากหลังควรจะเสริมให้วัตถุหลักในภาพดูเด่นและช่วยแยกจากส่วนอื่นของภาพ เมื่อมีสิ่งที่ดูซับซ้อนหรือรก เช่น กิ่งไม้หรือจุดของแสงที่สว่างจะเป็นสาเหตุให้ดึงสายตาของผู้ดูภาพไปจากวัตถุหลัก

          ทางที่ดี ควรทำให้ภาพดูเรียบและสะอาด แน่นอนว่านักถ่ายภาพไม่สามารถย้ายต้นไม้หรือภูเขาได้ ดังนั้นหากสิ่งเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในภาพ นักถ่ายภาพก็ควรที่จะเดินจากตำแหน่งนั้นเพื่อหามุมที่แตกต่างออกไป

          ขาดเส้นนำสายตา

          เส้น สามารถช่วยนำสายตาของผู้ดูภาพไปในภาพและสร้างความเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นการวางเส้นไปในภาพที่ดีจึงช่วยให้ผู้ถ่ายภาพควบคุมผู้ดูภาพให้เห็นในสิ่งที่ต้องการได้ ซึ่งการวางตำแหน่งเส้นนำสายตาที่ดีไม่ว่าจะเป็นเส้นทแยงมุม หรือเส้นโค้งรูปตัว S จะทำให้เกิดความรู้สึกถึงมิติในภาพและบังคับให้ผู้ดูหยุดเลื่อนภาพบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือพลิกหน้าหนังสือเพื่อดูภาพนั้น

การจัดองค์ประกอบภาพ

          ไม่ทำให้ภาพดูหนักไป

          แม้จะไม่มีสเกลวัดสิ่งที่อยู่ในภาพ แต่น้ำหนักที่รู้สึกได้จากการมอง เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในภาพ น้ำหนักในที่นี้หมายถึงพื้นที่ในภาพที่ดึงสายตา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวัตถุหลักในภาพโดยขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งของวัตถุนี้ในเฟรมภาพ เพราะจะทำให้ภาพดูไม่สมดุลหรือดูหนักที่ด้านใดด้านหนึ่งของภาพได้

          โดยวิธีที่มักถูกใช้ในการที่จะทำให้เกิดความสมดุลคือการเพิ่มวัตถุรองเข้าไปในภาพ เพื่อที่จะถ่วงน้ำหนักของวัตถุหลักในภาพ และจะได้ผลดียิ่งขึ้นหากสิ่งที่เพิ่มเข้าไปนี้สามารถบอกเรื่องราวของวัตถุหลักได้ และภาพจะยิ่งประสบความสำเร็จหากทำให้ภาพมีความสมดุลด้วยวัตถุรองแล้วยังมีการใช้เส้นนำสายตาเพื่อเชื่อมวัตถุที่อยู่ในจุดตัดของกฎสามส่วนด้วย

          มีความสมดุลในภาพมากเกินไป

          แม้การขาดความสมดุลย์เนื่องจากน้ำหนักในการมองที่ส่วนใดส่วนหนึ่งในองค์ประกอบภาพมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อภาพ แต่ขณะเดียวกันภาพที่มีความสมดุลมากเกินไปก็จะทำให้ขาดความน่าสนใจได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากเข้าใจถึงแนวคิดนี้ก็จะช่วยให้ภาพดูน่าสนใจขึ้นได้ เนื่องจากองค์ประกอบภาพที่ดูไม่สมดุลเล็กน้อยในภาพ จะช่วยทำให้สายตาของผู้ดูภาพเคลื่อนไปทั่วภาพและทำให้ไม่น่าเบื่อ

          อย่างไรก็ตามการใช้วิธีนี้ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะวัตถุ ที่เป็นสิ่งของเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ 3 ส่วนประกอบที่มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจนเช่น แสง, บรรยากาศ และวัตถุได้ด้วย

การจัดองค์ประกอบภาพ

          ไม่มีพื้นที่สำหรับการเคลื่อนที่

          กับภาพที่ต้องการให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ก็ควรที่จะต้องมีพื้นที่ให้วัตถุในภาพเคลื่อนที่ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือเมื่อถ่ายภาพคนที่กำลังวิ่ง ควรวางตำแหน่งให้คน ๆ นั้นดูเหมือนเคลื่อนเข้ามาในภาพไม่ใช่เคลื่อนออกไป ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับให้พื้นที่ในการเคลื่อนที่ของวัตถุในภาพ แม้ว่าวัตถุนั้นจะอยู่นิ่งก็ตาม ส่วนในภาพทิวทัศน์นักถ่ายภาพควรให้ความสำคัญกับจุดที่ลำธารจะไหลไปเพราะจะทำให้รู้สึกถึงการสร้างการเคลื่อนที่นอกเหนือไปจากการเคลื่อนที่จริง ๆ ของน้ำ

          วางตำแหน่งวัตถุไม่ดี

          สิ่งสุดท้ายที่จะทำลายองค์ประกอบภาพก็คือการวางตำแหน่งของวัตถุในภาพไม่ดี ชื่อกฎ 3 ส่วนซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกและถูกเขียนโดย John Thomas เมื่อปี 1979 สามารถนำมาใช้อย่างได้ผล โดยหลักการคือไม่ควรแบ่งเฟรมภาพเป็น 2 ส่วนที่เท่ากันและวัตถุไม่ควรอยู่กลางภาพ

          ซึ่งจากกฎ 3 ส่วนจะมีการแบ่งภาพเป็น 3 ส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน และตำแหน่งที่ควรวางวัตถุในภาพก็คือบริเวณใกล้จุดตัดของแต่ละเส้นที่แบ่งภาพเป็น 3 ส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน

ที่มา : หนังสือ FOTOINFO ISSUE 124 เดือนกรกฎาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 สิ่งที่ทำให้องค์ประกอบในภาพถ่ายขาดความน่าสนใจ โพสต์เมื่อ 21 สิงหาคม 2558 เวลา 17:29:01 9,083 อ่าน
TOP