
หนุ่ม ๆ ทั้งหลายอาจรู้วิธีการออกกำลังกายและการเลือกทานอาหารเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อกันมาบ้างแล้ว แต่เคยรู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว ร่างกายจัดการโปรตีนที่กินเข้าไปได้อย่างไร ถึงออกมาเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และทำไมกล้ามเนื้อของแต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน วันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอคลายข้อสงสัยดังกล่าวด้วยการนำข้อมูลจากเว็บไซต์ menshealth.co.uk เกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ที่ร่างกายนำโปรตีนไปแปลงเป็นกล้ามเนื้อมาบอกต่อกันครับ


เมื่อทานอาหารที่มีโปรตีนเข้าไปแล้ว ขั้นตอนแรกที่ร่างกายจะจัดการในกระเพาะอาหารคือการแยกส่วนประกอบของโปรตีนออกจากกันให้กลายเป็นเปปไทด์ ซึ่งภายในบรรจุกรดอะมิโนที่จำเป็นไว้สำหรับการสร้างกล้ามเนื้อ เพราะยิ่งคุณเล่นกล้ามหนักเท่าไร ร่างกายก็ต้องการเปปไทด์มากขึ้นเท่านั้น

ทันทีที่ได้เปปไทด์แล้ว ร่างกายก็จะนำเปปไทด์และกรดอะมิโนไปเก็บไว้ที่ตับ รอจนเมื่อมีกล้ามเนื้อที่เสียหายจึงจะส่งกรดอะมิโนเหล่านี้ไปเป็นวัตถุดิบในการซ่อมแซมและเสริมสร้างกล้ามเนื้อใหม่


กล้ามเนื้อมีลักษณะเป็นเส้นใยยาว การออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมาก ๆ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ร่างกายจึงจะส่งสัญญาณไปยังโกรทฮอร์โมนและสเต็มเซลล์ให้เข้ามาทำหน้าที่ซ่อมแซม โดยใช้กรดอะมิโนเป็นวัตถุดิบในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

กรดอะมิโนจะถูกใช้เพื่อเป็นตัวเชื่อมประสานและสร้างไมโอไฟบริลหรือเส้นใยกล้ามเนื้อแต่ละเส้นขึ้นมา แต่จะมากน้อยและใช้กรดอะมิโนชนิดไหนนั้น เป็นหน้าที่ของดีเอ็นเอซึ่งคอยควบคุมและกำหนดขั้นตอนนี้อยู่ ทำให้แต่ละคนมีขนาดและลักษณะของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน


นอกจากร่างกายจะสร้างเส้นใยกล้ามเนื้อเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแล้ว ยังสร้างเส้นใยกล้ามเนื้ออันใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมด้วย เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกล้ามของเราจึงใหญ่โตขึ้นเมื่อออกกำลังกายนั่นเอง
ได้รู้แบบนี้แล้วก็คงหายสงสัยแล้วใช่ไหมว่า ร่างกายจัดการกับโปรตีนอย่างไร เราจึงมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสวยงามได้ขนาดนี้ เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมหมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและเลือกทานอาหารที่มีโปรตีนเป็นประจำ เพราะกระบวนการสร้างกล้ามเนื้อจำเป็นต้องอาศัยทั้งสองปัจจัยนี้นั่นเองครับ