วิ่งลงส้นเท้าหรือวิ่งลงปลายเท้า ข้อเท็จจริงที่หลายคนอยากรู้




ภาพประกอบจาก prweb, therxreview เเละ mytreadmilltrainer

          การวิ่ง จัดเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานและเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายโดยแทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ แต่เรื่องหนึ่งที่คาใจบรรดาผู้รักการวิ่งมาอย่างยาวนานก็คือระหว่างวิ่งด้วยการใช้ส้นเท้าลงพื้นหรือวิ่งด้วยการใช้ปลายเท้าลงพื้นแบบไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอนำความรู้เรื่องดังกล่าวมาชี้แจงให้บรรดานักวิ่งได้รับทราบกันครับ

          โดยธรรมชาติแล้ว ท่าวิ่งของเราจะแบ่งได้เป็น 2 ท่าตามตำแหน่งเท้าที่ลงน้ำหนักนั่นก็คือ ท่าวิ่งลงน้ำหนักด้วยส้นเท้า และท่าวิ่งลงน้ำหนักด้วยปลายเท้า ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

วิ่งแบบลงส้นเท้า

          วิ่งแบบลงส้นเท้า

          การวิ่งแบบลงน้ำหนักที่ส้นเท้าหรือ Heel Strike running คือ การวิ่งโดยใช้ส้นเท้าเป็นจุดถ่ายแรงสู่พื้น จากนั้นฝ่าเท้าจึงลงสัมผัสกับพื้นทั้งหมด แล้วจึงใช้ปลายเท้าออกแรงส่งตัวเพื่อดันไปข้างหน้า ท่านี้จะตรวจจับแรงกระแทกได้มาก 2 ช่วงคือ เมื่อส้นเท้ากระแทกพื้นและเมื่อฝ่าเท้าสัมผัสพื้นทั้งหมด

วิ่งแบบลงปลายเท้า


          วิ่งแบบลงปลายเท้า

          การวิ่งแบบลงน้ำหนักด้วยปลายเท้าหรือ Forefoot Strike running คือ การวิ่งโดยใช้ปลายเท้าเป็นจุดถ่ายแรงสู่พื้น แล้วส้นเท้าจึงลดลงมาสัมผัสกับพื้นทั้งหมด แล้วจึงออกแรงส่งตัวไปข้างหน้าด้วยปลายเท้าเช่นกัน ท่านี้จะตรวจพบแรงกระแทกครั้งเดียวคือ เมื่อฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นทั้งหมด ทั้งนี้ การวิ่งแบบลงปลายเท้าจะใช้แรงน้อยกว่าวิ่งแบบลงส้นเท้ามากที่สุดถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

          ท่าวิ่งทั้งสองสามารถทำให้เราได้ออกกำลังกายเหมือน ๆ กัน แต่หากจะถามว่าท่าไหนดีกว่ากัน ก็ต้องให้วิทยาศาสตร์ช่วยหน่อย โดยจากการวิจัยด้านประสิทธิภาพการวิ่งจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ซึ่งคัดเลือกนักวิ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ถนัดวิ่งแบบลงส้นเท้าและลงปลายเท้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 16 คน ซึ่งเป็นเหล่านักวิ่งอาชีพที่มีอายุ น้ำหนัก ส่วนสูงใกล้เคียงกัน ได้รับการฝึกซ้อมด้วยระยะทางพอ ๆ กัน และสามารถทำเวลาได้ใกล้เคียงกัน โดยนักวิ่งทั้งหมดจะได้วิ่งทั้งในแบบลงส้นเท้าและลงปลายเท้าบนการทดสอบแบบ VO2max (เป็นมาตรฐานการวัดความแข็งแรงของร่างกาย) ปรากฏว่า เมื่อวิ่งแบบลงส้นเท้า นักวิ่งทั้งสองกลุ่มสามารถวิ่งได้นานขึ้นเพราะใช้พลังงานน้อยกว่า แต่ก็น่าแปลกใจที่ว่า นักวิ่งที่ถนัดการวิ่งด้วยปลายเท้า กลับวิ่งในท่าส้นเท้าได้ดีกว่าท่าที่ตัวเองถนัดเสียอีก ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการวิ่งลงน้ำหนักส้นเท้าถือเป็นท่าทางเดินพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเหมาะกับการวิ่งระยะกลางถึงไกลอย่างการวิ่งมาราธอนที่ใช้ความเร็วไม่มากเพียงประมาณ 12 กม./ชม. นั่นเอง

          แต่เมื่อพูดถึงด้านความเร็วแล้ว คนเราจะวิ่งแบบลงน้ำหนักด้วยปลายเท้าโดยไม่รู้ตัว เพราะเท้าของมนุษย์ออกแบบวิ่งด้วยปลายเท้า ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าจึงสามารถรับแรงจากการกระแทกพื้นได้ดีกว่า รวมทั้งสามารถส่งต่อการวิ่งที่ต่อเนื่องได้ทันที ซึ่งนักกีฬาส่วนใหญ่ที่ต้องการความเร็วจะใช้วิธีการวิ่งแบบนี้ รวมทั้งยอดลมกรดอย่าง ยูเซน โบลต์ ด้วย

          มาที่ผลกระทบจากการวิ่งของทั้งสองท่ากันบ้าง นักวิจัยด้านกีฬาจากประเทศฟินแลนด์ได้ศึกษากลุ่มนักวิ่งทั้งแบบลงส้นและลงปลายเท้ากลุ่มละ 19 คนก็พบว่า ผู้ที่วิ่งด้วยการลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามีโอกาสบาดเจ็บที่บริเวณหัวเข่ามากกว่ากลุ่มที่วิ่งลงน้ำหนักด้วยปลายเท้า ส่วนกลุ่มที่วิ่งลงน้ำหนักที่ปลายเท้าจะเพิ่มโอกาสบาดเจ็บที่ข้อเท้าและเอ็นร้อยหวายมากกว่ากลุ่มที่ลงน้ำหนักด้วยส้นเท้า ซึ่งจากผลดังกล่าว นักวิจัยจึงแนะนำให้คนที่ปวดเข่าฝึกวิ่งด้วยการลงน้ำหนักปลายเท้ามากขึ้น ส่วนคนที่มีอาการปวดข้อให้ลงน้ำหนักส้นเท้าให้มากขึ้นเช่นกัน

          สำหรับท่าทางการลงเท้าในการวิ่งที่ได้เอ่ยถึงทั้งหมดก็เหมือนสิ่งต่าง ๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผู้รักการวิ่งทั้งหลายก็ควรฝึกไว้เพื่อเลือกใช้งานตามความเหมาะสม

          หากต้องวิ่งมาราธอนเป็นระยะทางไกลโดยไม่เน้นความเร็วมากนัก ก็ควรวิ่งลงส้นเท้าเพื่อให้วิ่งได้นานขึ้น แต่หากเราเล่นกีฬาอย่างฟุตบอลที่ต้องวิ่งไล่ตามฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็ว การลงน้ำหนักที่ปลายเท้าก็จะช่วยได้มากทีเดียว รู้อย่างนี้แล้ว ก็ลองเอาแนวทางเหล่านี้ไปใช้ดูนะครับ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิ่งลงส้นเท้าหรือวิ่งลงปลายเท้า ข้อเท็จจริงที่หลายคนอยากรู้ อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2559 เวลา 15:45:06 50,383 อ่าน
TOP
x close