x close

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ (Men\'s Health)
เรื่อง ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

           อากาศช่วงนี้ต้องบอกว่าร้อนมาก หลายคนคงอยากหลบร้อนไปเที่ยวทะเลกัน จึงขอชวนคุยเกี่ยวกับกีฬาทางน้ำอย่างหนึ่ง นั่นคือ เซิร์ฟบอร์ด หรือกระดานโต้คลื่น ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภูเก็ต ซึ่งมีการเล่นในหลายหาด ทั่งหาดป่าตอง กะตะ กะหลับ และยังมีการแข่งขันเซิร์ฟระดับนานาชาติด้วย ผมมีสาระสุขภาพหลายเรื่องที่น่ารู้สำหรับนักเซิร์ฟ หรือคนที่หนีร้อนไปเที่ยวทะเลมาฝากครับ

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ

แผลฉีกขาด

           แผลฉีกขาดเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดในนักเซิร์ฟ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการกระทบกระแทกกับตัวเซิร์ฟเอง นอกจากนี้ ยังเกิดจากการกระแทกกับหินหรือปะการัง แผลฉีกขาดที่เกิดในน้ำอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำและน้ำอาจเป็นตัวพาสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษทรายเข้าไปในบาดแผล ดังนั้น เมื่อเกิดแผลฉีกขาด จึงควรล้างแผลเพื่อกำจัดเชื้อโรคและชะล้างเอาสิ่งแปลกปลอมออกไป

           หากเป็นแผลฉีกขาดลึกควรไปพบแพทย์เพราะอาจต้องเย็บแผล โดยแผลลักษณะนี้แพทย์มักจะเย็บให้ห่างกว่าปกติ เพราะถ้าเย็บแน่นหรือชิดจนเกินไป อาจเกิดการอักเสบได้ง่าย และจะให้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

           การเล่นเซิร์ฟจะมีการใช้สายโยงระหว่างเซิร์ฟบอร์ดกับข้อเท้าของนักเซิร์ฟ สายโยงนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เซิร์ฟบอร์ดของคุณไปกระแทกกับคนอื่น และยังเป็นตัวช่วยชีวิตกรณีที่พลัดตกน้ำหรือจมน้ำ จะได้สามารถมาเกาะบอร์ดเพื่อลอยตัวในน้ำได้ แต่สายโยงนี้เอง กลับเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการไปกระแทกกับตัวเจ้าของบอร์ดเอง เพราะการมีสายโยงจะทำให้เกิดแรงสะท้อนดึงบอร์ดกลับมากระแทกตัวผู้เล่น นอกจากนี้ การติดขอบยางที่เซิร์ฟบอร์ดก็อาจมีส่วนช่วยลดการเกิดบาดแผลจากการกระแทกได้

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ

ฟันหลุด...ทำอย่างไรดี

           หากโดนกระแทกรุนแรงจนฟันหลุด ควรรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็วและนำฟันซี่นั้นไปด้วย เพราะสามารถนำกลับมาเข้าที่ได้ แต่ต้องใส่ใจในรายละเอียด คือไม่ควรจับบริเวณรากฟันเพราะจะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อปริทันต์ ซึ่งมีความสำคัญในการยืดฟัน ควรแช่ฟันดังกล่าวในนมจืดหรือน้ำเกลือ เพื่อรักษาสภาพฟันในระหว่างเดินทาง หากไม่สามารถหาได้ อาจอมไว้ในกระพุ้งแก้ม แต่อย่าเผลอกลืนลงท้องไปนะครับ

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ

ทำอย่างไรหากโดนแมงกะพรุน

           แมงกะพรุนถือเป็นสัตว์มีพิษที่สร้างปัญหาให้กับบรรดานักท่องเที่ยวทางทะเล รวมถึงเหล่านักเซิร์ฟ เข็มพิษจะอยู่บริเวณหนวดของมัน เมื่อถูกเข็มพิษจะเกิดผื่นแดง บวม ปวดแสบปวดร้อนในบริเวณดังกล่าว เมื่อถูกพิษควรขึ้นจากน้ำโดยเร็ว เพราะในบางรายอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ทำให้หลอดลมตีบ หายใจลำบาก และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

           สำหรับการปฐมพยาบาลแก้พิษแมงกะพรุนในตำแหน่งที่สัมผัส ทำได้โดยการชำระล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำทะเล หรือน้ำส้มสายชูอ่อน (ไม่ควรล้างด้วยน้ำจืดหรือเช็ดถูในบริเวณที่ถูกพิษ เพราะจะทำให้มีการปล่อยพิษออกมามากขึ้น) หลังจากล้างผิวหนังแล้วให้ใช้ใบมีดโกน หรือขอบบัตรเครดิตขูดเบา ๆ เพื่อถอนเข็มพิษที่ฝังอยู่ออกไป ถ้าบริเวณนั้นมีผักบุ้งทะเลก็เด็ดมาล้างให้สะอาด ขยี้แล้วพอกในบริเวณดังกล่าว โดยอาจจะผสมกับน้ำส้มสายชูอ่อนด้วยก็ได้ การประคบหรือแช่น้ำอุ่น อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวด อาจจะรับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบตามอาการ หากมีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ

เรื่องของหู (ที่ไม่คัน)

           นักเซิร์ฟที่ใช้เวลาอยู่กับน้ำเป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาการอักเสบของหูชั้นนอกได้ โดยมีอาการปวดหู หรืออาจมีอาการบวมแดงบริเวณรูหู ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดหูหรือชนิดรับประทาน ควรรอให้อาการปกติดีเสียก่อนจึงกลับไปลงน้ำ มิฉะนั้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรังได้

           การเกิดกระดูกงอกบริเวณรูหู สังเกตได้จากการมีก้อนนูนขึ้นมาในบริเวณรูหูชั้นนอก เกิดจากการถูกน้ำเย็นเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกตินอกจากก้อนที่เห็นหรือคลำได้ แต่ในบางรายอาจรบกวนการได้ยินเสียง หรือทำให้เกิดน้ำขิงในรูหูได้ง่าย และทำให้เกิดการติดเชื้อและปวดหูตามมา

           เยื่อแก้วหูทะลุ เกิดจากการถูกกระแทกอย่างรุนแรงที่หู ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหู ในบางราย อาจมีอาการวิงเวียน ได้ยินเสียงน้อยลง หรือมีเลือดออกหู แพทย์วินิจฉัยได้โดยใช้กล้องตรวจหูส่องดูรอยฉีกขาด ซึ่งรูทะลุของเยื่อแก้วหูนั้นสามารถหายเองได้ โดยต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าหู (งดเล่นเซิร์ฟ หรือลงน้ำ) จนกว่าจะหายดี

           ปัญหาเกี่ยวกับหูสามารถป้องกันได้ โดยการใส่เอียร์ปลั๊ก หรือที่อุดหูในระหว่างเล่นเซิร์ฟ เพื่อป้องกันน้ำเข้าหูนั่นเอง





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นานาสาระสุขภาพ สำหรับนักเซิร์ฟ อัปเดตล่าสุด 4 พฤษภาคม 2555 เวลา 15:35:25 1,246 อ่าน
TOP