การหาค่า BMI ผู้ชาย ต้องคิดยังไง ค่าปกติต้องไม่เกินเท่าไร มาดูวิธีและสูตรคํานวณ BMI กันเลย ขอบอกว่าไม่ยากอย่างที่คิด !
เนื่องจากค่า BMI (Body Mass Index) หรือดัชนีมวลกาย ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ใช้ประเมินสัดส่วนของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูง เพื่อบ่งชี้ว่าร่างกายมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่นั้น มีประโยชน์ทั้งการช่วยติดตามสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก เหมาะกับผู้ที่ต้องการวางแผนควบคุมน้ำหนัก รวมถึงช่วยในการประเมินความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ทำให้หนุ่ม ๆ หลายคนที่รักและใส่ใจในการดูแลสุขภาพรวมถึงรูปร่างของตัวเอง ให้ความสำคัญกับค่า BMI อยู่พอสมควร และอยากรู้ว่าจะต้องคำนวณอย่างไรบ้าง วันนี้เราจึงจะมาช่วยสอนวิธีการหาค่า BMI ผู้ชาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการคำนวณค่า BMI นั้นจะไม่ได้แยกเพศว่าเป็น BMI ของผู้ชายหรือผู้หญิง จึงสามารถใช้วิธีและสูตรเดียวกันได้เลย
หาค่า BMI สูตรเป็นยังไง
ในการคำนวณเพื่อหาค่า BMI นั้น สามารถทำได้ด้วยการใช้สูตรดังนี้
BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2
ตัวอย่างการคํานวณ BMI
ยกตัวอย่าง ชายคนหนึ่งมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม และส่วนสูง 175 เซนติเมตร จะสามารถคำนวณค่า BMI ได้ออกมาดังนี้
BMI = 70 / (1.75 x 1.75) = 22.66
เพราะฉะนั้นจะได้ค่า BMI ของชายคนนี้คือ 22.66 นั่นเอง
ค่า BMI ปกติ ควรเป็นเท่าไร
หลังจากที่นำน้ำหนักและส่วนสูงไปคำนวณจนได้ค่า BMI มาแล้ว ให้นำมาเทียบกับค่าด้านล่างนี้เพื่อดูว่ามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือไม่
- ต่ำกว่า 18.5 : น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเป็นคนผอม
- 18.5 - 24.9 : มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติตามมาตรฐาน
- 25 - 29.9 : มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ปกติ หรือเป็นคนน้ำหนักเกิน
- 30 ขึ้นไป : มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาก หรือเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน
สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือค่า BMI เกิน 25 จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิดได้มากกว่าผู้ที่มีค่า BMI ปกติ เช่น โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มี BMI เกิน 30 ซึ่งถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายได้สูงกว่าคนปกติมาก ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือ BMI ต่ำกว่า 18.5 อาจต้องระวังเรื่องการขาดสารอาหาร หรืออาการอ่อนเพลียที่เกิดจากการได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ค่า BMI เป็นเพียงค่าสำหรับใช้ในการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดได้ว่าบุคคลนั้นอ้วนหรือไม่ เนื่องจากจำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ ปริมาณกล้ามเนื้อ ฯลฯ อย่างเช่นในนักกีฬาที่กล้ามเนื้อมาก อาจมีค่า BMI สูง แม้ว่าจะไม่อ้วนก็ตาม หรือคนที่อายุมากกว่ามักจะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าคนที่อายุน้อย เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลขอนแก่น ราม, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลบางปะกอก 9