เกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูง ผู้ชายตามมาตรฐาน คิดอย่างไร แค่ไหนที่เรียกว่าสมส่วน

          เกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูง ผู้ชาย ตามปกติแล้วควรมีค่าเท่าไรบ้าง ปัจจุบันส่วนสูง น้ำหนักมาตรฐานผู้ชาย คิดคำนวณได้อย่างไร แบบไหนถึงเรียกว่าหุ่นดี ไม่อ้วน ไม่ผอม มาหาคำตอบกัน
สุขภาพผู้ชาย

          หนุ่มไทยหลาย ๆ คนอาจสงสัยในเรื่องของสุขภาพผู้ชายอย่างน้ำหนักและส่วนสูง ว่าเกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูงของตัวเองนั้นอยู่ในระดับไหน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้ชายในประเทศไทย เพราะตัวเลขทั้งสองอย่างนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบุคลิกภาพภายนอก หากเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือสูงกว่าก็จะช่วยให้รู้สึกมั่นใจ แถมยังดูโดดเด่นสะดุดตา วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอชวนมาเช็ก เกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูง ผู้ชาย กันว่ามีวิธีคิดอย่างไร และค่าเท่าไรถึงจะเรียกว่าสมส่วนพอดี

เกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูง ผู้ชายไทย

คือเท่าไร ?

          น้ำหนักและส่วนสูงของผู้ชายไม่ได้เป็นผลมาจากพันธุกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ โภชนาการ การออกกำลังกาย ทำให้ผู้ชายทั่วโลกมีเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เท่ากัน สำหรับคนไทยนั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาโครงการ “Size Thailand” ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เพื่อสำรวจและวิจัยมาตรฐานขนาดรูปร่างของคนไทย ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3D Body Scanner พบว่ามาตรฐานรูปร่างของผู้ชายไทยมี 9 ไซซ์ ได้แก่ ไซซ์ 32, 34, 36, 38, 40, 42, 44, 46 และ 48 ขณะที่ส่วนสูงค่าเฉลี่ยของผู้ชายไทยในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จะอยู่ที่ราว 169.4 ซม. และหนักราว 68.9 กก. จึงจะถือว่ากำลังดี

          อย่างไรก็ตาม จากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มความสูงเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยโภชนาการที่ได้รับมีคุณภาพที่สูงขึ้น โดยผลการสำรวจปี 2560 พบว่าเด็กผู้ชายมีส่วนสูงเฉลี่ย 170 ซม. และผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157 ซม. กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กชุดใหม่ เพื่อเป็นมาตรฐานในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี โดยมีเป้าหมายในปี 2569 ความสูงเฉลี่ยของคนไทย อายุ 19 ปี ผู้ชายต้องสูง 175 ซม. ผู้หญิง 162 ซม. และยังปรับเป้าหมายต่อเนื่องในอีก 15 ปีข้างหน้า คือ ปี 2579 ผู้ชายไทยต้องสูงเฉลี่ย 180 ซม. ผู้หญิง 170 ซม.

สุขภาพผู้ชาย

          นอกจากค่าเฉลี่ยน้ำหนักและส่วนสูงตามมาตรฐานแล้ว ใครอยากเทียบน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูง สำหรับผู้ชาย ในระดับอายุ 25-59 ปี เรามีข้อมูลอ้างอิงจาก เว็บไซต์ healthchecksystems.com มาให้วัดเป็นแนวทางกันครับ

ตารางน้ำหนัก-ส่วนสูงมาตรฐานตามอายุ


ส่วนสูง
(ฟุต)           (ซม.)

 
ผอม
(กก.)
พอดี
(กก.)
อ้วน
(กก.)
5'2"             157 ต่ำกว่า 58 59-64 65-68
5'3"             160 ต่ำกว่า 59 60-65 66-69
5'4"             162 ต่ำกว่า 60 61-66 67-71
5'5"             165 ต่ำกว่า 61 62-67 68-73
5'6"             167 ต่ำกว่า 62 65-69 70-74
5'7"             170 ต่ำกว่า 63 64-70 71-76
5'8"             172 ต่ำกว่า 64 66-71 72-78
5'9"             175 ต่ำกว่า 65 67-73 74-80
5'10"           177 ต่ำกว่า 66 69-74 75-82
5'11"           180 ต่ำกว่า 67 70-75 76-83
6'0"             182 ต่ำกว่า 68 71-77 78-85
6'1"             185 ต่ำกว่า 69 73-79 80-87
6'2"             187 ต่ำกว่า 70 74-81 82-89
6'3"             190 ต่ำกว่า 72 76-83 84-92
6'4"             192 ต่ำกว่า 74 78-85 86-94

(หมายเหตุ : แปลงค่าน้ำหนักจากปอนด์เป็นกิโลกรัมและปัดเศษเพื่อให้เทียบเคียงง่าย)

          จริง ๆ แล้ววิธีคำนวณหาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับส่วนสูงของแต่ละคนมีอยู่หลากหลายสูตร และยังเป็นข้อถกเถียงกันมานาน แต่ทางการแพทย์แล้วจะนิยมใช้ค่า BMI กันมากที่สุด ลองมาทำความรู้จักกับค่านี้กันอีกสักหน่อยดีกว่า

BMI ผู้ชาย คิดอย่างไร แค่ไหนถึงจะไม่อ้วน-ไม่ผอมไป

          ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) เป็นค่าสากลที่ใช้เพื่อคำนวณเพื่อหาน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น และประมาณระดับไขมันในร่างกาย ซึ่งสามารถระบุได้ว่าตอนนี้รูปร่างของเรานั้นอยู่ในระดับใด ตั้งแต่อ้วนมากไปจนถึงผอมเกินไป

BMI มีสูตรการคำนวณ = น้ำหนักตัว [กก.] / (ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง)

          สูตรคำนวณเหมาะสำหรับใช้ประเมินผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

น้อยกว่า 18.5 = ผอมเกินไป

          น้ำหนักน้อยกว่าปกติอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารหรือพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย ควรเสริมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

18.6-24 = น้ำหนักปกติ เหมาะสม

          น้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคนไทย คือ ค่า BMI ระหว่าง 18.5-24 จัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ห่างไกลโรคที่เกิดจากความอ้วน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ น้อย ควรพยายามรักษาระดับค่า BMI ให้อยู่ในระดับนี้ และตรวจสุขภาพทุกปี

25.0-29.9 = อ้วน

          ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ถือว่าอ้วนมาก แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วนได้เช่นกัน ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพ

30.0 ขึ้นไป = อ้วนมาก

          หากค่า BMI อยู่ในระดับนี้ถือว่าค่อนข้างอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน ต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และควรออกกำลังกาย หากเลขยิ่งสูง ยิ่งแสดงถึงความอ้วนที่มากขึ้น ควรตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์

          ค่า BMI จากโปรแกรมคำนวณนี้ เป็นค่าสำหรับชาวเอเชียและคนไทย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ โดยค่า BMI ของชายไทย คือ 23.1 (อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป)

          นอกจากนั้นยังอาจใช้อีกวิธีเพื่อคำณวนแบบง่าย ๆ ได้แก่

น้ำหนักมาตรฐานผู้ชาย = ส่วนสูง [ซม.] - 100)

          เช่น ผู้ชายที่สูง 170  เซนติเมตร (ซม.) เมื่อนำมาลบด้วย 100 จะได้ผลลัพธ์ 70 ตัวเลขนี้คือน้ำหนักตัวที่เหมาะสมครับ

          ทั้งนี้ น้ำหนักตัวไม่ใช่ตัวบ่งบอกว่าคุณมีสุขภาพดีหรือไม่เสมอไป เพราะเกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูง ผู้ชาย ข้างต้น อาจคลาดเคลื่อนได้ตามอายุ สรีระ มวลกล้ามเนื้อ ดังนั้นให้ใช้ดูเป็นแนวคร่าว ๆ และทางที่ดีควรหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และวัดสัดส่วนของร่างกายควบคู่ไปด้วยจะดีกว่าครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข, boi.go.th, สวทช., khonkaenram.com, healthchecksystems.com, healthifyme.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกณฑ์น้ำหนัก ส่วนสูง ผู้ชายตามมาตรฐาน คิดอย่างไร แค่ไหนที่เรียกว่าสมส่วน อัปเดตล่าสุด 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 15:38:28 187,876 อ่าน
TOP
x close