ตุ่มที่อัณฑะ สามารถเกิดได้จากหลายโรค และอาจเป็นโรคติดต่อ มาเช็กอาการพร้อมวิธีรักษาเบื้องต้นกันดีกว่า ก่อนที่มันจะลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่
สิว
ถุงอัณฑะของผู้ชายมีรูขุมขนจำนวนมาก เมื่อมีรูขุมขนก็สามารถเป็นสิวได้ โดยเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ขนคุด
- รูขุมขนอุดตัน
- การสะสมของสิ่งสกปรกและน้ำมันจากเหงื่อออกหรือไม่ได้อาบน้ำเป็นประจำ
ลักษณะของสิว : มีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ สีแดง หัวสิวมีความมัน มีหนองขาวตรงกลางตุ่ม (สิวหัวขาว) หรือจุดดำคล้ำที่หนองแห้ง (สิวหัวดำ)
วิธีการป้องกันและรักษา :
1. ทำความสะอาดให้ดี ล้างสิวทุกครั้งที่อาบน้ำ และใส่น้ำมันทีทรีหรือน้ำมันละหุ่งลงบนสิวเพื่อทำความสะอาด
2. ใช้แป้งข้าวโพดผสมน้ำเปล่าทาลงบนสิวเพื่อดูดซับความมัน
3. ทาครีมต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น นีโอสปอริน บนสิวเพื่อฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียที่สะสมอยู่
หูดข้าวสุก
โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและพบได้ในผู้ชายทุกวัย โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus หรือ เอ็มซีวี (MCV) ผ่านการสัมผัสผิวหนังที่ติดเชื้อไวรัสโดยตรง ทางเพศสัมพันธ์ หรือทางสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งโรคนี้จะมีผลกับผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น ไม่มีการเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือดหรือระบบประสาทแต่อย่างใด และสามารถหายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 2-12 เดือน
ลักษณะของหูดข้าวสุก : จะเป็มตุ่มกลม ๆ สีเหลืองหรือสีเนื้อ ผิวเรียบเป็นมันเงาและมีรอยบุ๋มตรงกลาง บางเม็ดสามารถมองเห็นเม็ดหูดสีขาวข้างในได้ โดยจะมีลักษณะขึ้นเป็นกลุ่มติดกันหลาย ๆ เม็ด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร
อาการของหูดข้าวสุก : หูดข้าวสุกจะไม่ทำให้คนเป็นรู้สึกเจ็บหรือคัน แต่อาจทำให้ผิวหนังโดยรอบเกิดการอักเสบ บวมแดง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อรักษาหูดข้าวสุกหาย
วิธีการป้องกันและรักษา : อย่างที่บอกว่าหูดนี้สามารถหายเองได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือติดเชื้ออย่างอื่นแทรกซ้อนควรรีบพบแพทย์ทันที ส่วนวิธีป้องกันคือ ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทำความสะอาดมือและของใช้ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่นให้ดี ไม่เกาหรือบีบหูดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่จุดอื่น ๆ เท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคหูดข้าวสุกแล้ว
เริม
เริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (HSV-2) ผ่านการสัมผัสผิวหนัง ทางสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเชื้อยังค้างอยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก
ลักษณะของเริม : จะเป็นตุ่มพองเล็ก ๆ มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน คล้ายกับอีสุกอีใส ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ขึ้นมาเป็นกลุ่ม ๆ และผิวหนังโดยรอบจะมีสีแดงชัดมาก
อาการของเริม : ในช่วงแรกจะมีอาการคัน ๆ ก่อน แต่พอผ่านไปสักระยะจะเริ่มมีอาการปวดแสบ บางคนมีอาการปัสสาวะแสบขัดด้วย ในกรณีที่เป็นครั้งแรกจะมีอาการที่รุนแรงมาก ถึงขั้นมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย และมีอาการปวดแสบปวดร้อนได้เลย ส่วนกรณีเกิดซ้ำอาการจะเบากว่าครั้งแรก
วิธีป้องกันและรักษา : ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ หากเกิดเป็นเริมขึ้นมาแพทย์จะทำการจ่ายยาบรรเทาอาการร่วมกับยาต้านเชื้อไวรัส เพื่อลดความรุนแรงของโรคจนกว่าภูมิต้านทานจะแข็งแรง ส่วนวิธีการป้องกัน ควรเริ่มจากงดใช้ของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการโดนน้ำลายหรือสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง และส่วมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
โรคหิด
โรคหิด (Scabies) เกิดจาก ตัวหิด (Scabies mite) ปรสิตขนาดเล็กที่ชอบอาศัยอยู่ในผิวหนังของคนและชอบขุดเจาะกินเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดง ๆ ขึ้น ซึ่งสามารถติดกันผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงจัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกชนิดหนึ่ง
ลักษณะของโรคหิด : จะเป็นผื่นหรือตุ่มนูนแดง ๆ ขนาดประมาณ 1-5 มิลลิเมตร บางครั้งอาจจะเป็นโพรงนูนคดเคี้ยวไป-มา ซึ่งเกิดจากการเจาะของตัวหิดนั่นเอง
อาการของโรคหิด : คนที่เป็นโรคหิดจะมีอาการคันอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน และอาจมีอาการแสบจากการเการ่วมด้วย
วิธีป้องกันและรักษา : โรคหิดสามารถรักษาได้ด้วยการทายาหรือครีมรักษาต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะทาในช่วงกลางคืน เพราะเป็นช่วงที่ตัวหิดตื่นตัวและมีอาการคันมากที่สุด หลังจากตุ่มแดง ๆ เริ่มยุบลงแล้วควรทายาต่อไปอีกสักพัก เพื่อให้มั่นใจว่าหายขาดแล้วจริง ๆ ส่วนวิธีการป้องกันที่สำคัญเลยคือ ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ให้ดี เพราะแม้แต่ฝาชักโครกก็สามารถติดต่อกันได้ งดสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่นอน
มะเร็งอัณฑะ
ตุ่มที่อัณฑะอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งอัณฑะได้ โดยมักเริ่มต้นจากเนื้องอกขนาดเล็กในเซลล์สืบพันธุ์ที่สร้างอสุจิภายในลูกอัณฑะ และมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- มีภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ซึ่งเป็นภาวะที่ลูกอัณฑะ 1 หรือ 2 ข้างไม่เข้าไปอยู่ในถุงอัณฑะ มักเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก่อนคลอด มีโอกาสเป็นมะเร็งอัณฑะมากขึ้นประมาณ 10-40%
- โครโมโซมคู่ที่ 1 หรือคู่ที่ 12 ผิดปกติ
- เคยบาดเจ็บหรือมีการอักเสบบริเวณอัณฑะจากสาเหตุต่าง ๆ
- ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
- ผู้ชายที่เป็นหมันแต่กำเนิดมีโอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะสูงกว่าปกติ
อาการของมะเร็งอัณฑะ : มีหลายอาการดังนี้
- คลำพบก้อนเนื้อในอัณฑะ อาจจะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ อาจจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ หรือเป็นก้อนก็ได้
- ลูกอัณฑะบวมหรือใหญ่ขึ้น
- ปวดหน่วงบริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือท้องน้อย
- อัณฑะบวมคล้ายมีน้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกปวดขัดหรือรู้สึกไม่สบายภายในอัณฑะ
- รู้สึกเหมือนมีน้ำสะสมภายในถุงอัณฑะ
- ความต้องการทางเพศลดลง
วิธีป้องกันและรักษา : โรคมะเร็งอัณฑะยังจัดว่ามีความรุนแรงต่ำ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยจะมีวิธีการรักษาดังนี้
- การผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดเฉพาะอัณฑะข้างที่เป็นโรคเท่านั้น โดยแพทย์มีการประเมินเซลล์มะเร็งและระยะของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาต่อเนื่อง
- รักษาด้วยรังสี อาจทำการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องท้อง ช่องอก หรือบริเวณที่มะเร็งแพร่กระจาย
- เคมีบำบัด หลังจากผ่าตัดแล้วแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้เคมีบำบัดต่อเนื่อง หรือทำพร้อมการรักษาด้วยรังสี
ลองเช็กกันดูว่าเป็นโรคข้างต้นหรือเปล่า หากพบว่าใช่ก็ลองนำวิธีรักษาและป้องกันไปใช้ดูได้ แต่จริง ๆ แล้วตุ่มที่อัณฑะสามารถเป็นได้จากหลายโรค ซึ่งหากพบอาการแปลก ๆ ควรไปพบแพทย์ผิวหนังจะเป็นการดีที่สุด ยังไงก็อย่าลืมนำข้อมูลเหล่านี้ไปบอกคนรอบตัวกันต่อด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : healthline.com, si.mahidol.ac.th, haamor.com, bumrungrad.com