x close

นักวิจัยพบวิธีใช้การเต้นหัวใจแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า

Piezoelectric

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก University of Illinois and University of Arizona

          ทุกวันนี้ หลาย ๆ คนที่ใช้งานสมาร์ทโฟนอาจประสบปัญหาแบตเตอรี่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานในหนึ่งวัน แบตเตอรี่สำรองก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง แต่ด้วยขนาดและสายระโยงรยางค์ของมันจึงทำให้ไม่ค่อยสะดวกใช้งานเท่าไร แต่ในอนาคต คุณอาจจะไม่ต้องพกแบตเตอรี่สำรองอีกต่อไป เพราะสามารถใช้ร่างกายเป็นแหล่งพลังงานให้สมาร์ทโฟนได้ทันที...

          นวัตกรรมที่ล้ำสมัยราวกันภาพยนตร์ไซไฟนี้อาจกำลังเป็นจริงขึ้นมา โดยนักวิจัยชาวสหรัฐฯ และชาวจีนจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์และมหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้ร่วมมือกันคิดค้นวิธีการนำพลังงานจากการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในร่างกายมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การขยับตัวของปอด กระบังลม รวมทั้งการทำงานของหลอดเลือดต่าง ๆ

Piezoelectric

          ทั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้แผ่นพลาสติกชนิดพิเศษซึ่งติดตั้งแผงวงจรแปลงพลังงานไฟฟ้าขนาดเพียง 1 เซนติเมตร ทำการทดลองกับหัวใจของสัตว์หลายชนิด ทั้งวัว หมู และแกะ พบว่าสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างดี โดยพลังงานจากการทดลองดังกล่าวเพียงพอจะใช้กับเครื่องมือแพทย์ขนาดเล็กอย่างเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่องวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้แบตเตอรี่แบบเฉพาะจึงทำให้มีราคาสูง

          โดยระบบแผงวงจรไฟฟ้าดังกล่าวมีชื่อว่า ปีโซอิเล็กทริค (Piezoelectric) มีความพิเศษคือสามารถแปลงพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบัน ได้เริ่มใช้แล้วในวงการอื่น ๆ เช่น ในรถยนต์มีการเก็บพลังงานจากการสั่นสะเทือนขณะล้อรถหมุน เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดลมยาง และระบบคอมพิวเตอร์ภายในรถ

          ถึงแม้ว่าทีมวิจัยจะไม่ได้บอกว่าจะพัฒนาเสร็จสิ้นเมื่อไร และจะใช้ทดสอบกับมนุษย์อย่างไร แต่ได้ยินแบบนี้ หลาย ๆ คนก็คงอยากให้เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาสำเร็จโดยเร็ว ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีเสื้อจับการเต้นหัวใจใช้ชาร์จแบตฯ สมาร์ทโฟนเป็นแฟชั่นใหม่ก็เป็นได้นะครับ...



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิจัยพบวิธีใช้การเต้นหัวใจแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า อัปเดตล่าสุด 27 มกราคม 2557 เวลา 16:07:03 1,007 อ่าน
TOP