ขอขอบคุณภาพประกอบจาก hjchelmets , shop.lazerhelmets , bigbike-thailand เเละ mrhelmet
ทุกวันนี้ พาหนะที่ถือว่ามีจำนวนมากในท้องถนนประเทศไทยคงหนีไม่พ้นรถจักรยานยนต์นั่นเอง ซึ่งเหตุผลที่มันเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยม เพราะมีราคาหลายระดับ ขับขี่ลัดเลาะได้สะดวก มีสมรรถนะให้เลือกหลากหลายตามการใช้งานหรือรสนิยม โดยอาจมีทั้งรถขนาดเล็ก ๆ พอดีการใช้งานในเมือง หรือรถขนาดใหญ่สุดเท่ที่วิ่งฉิว และแน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ควรคำนึงถึงตามมาก็คืออุปกรณ์เสริมความปลอดภัย อย่าง หมวกกันน็อก ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่ทุกคนสวมหมวกกันน็อกเพื่อความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีหลายคนยังไม่วิธีการเลือกหมวกกันน็อกที่ถูกต้องกันสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่คงเน้นดีไซน์และราคาซะมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วยังมีข้อควรพิจารณามากกว่านั้นอีกเยอะ ด้วยเหตุนี้ กระปุกดอทคอมจึงขอนำเสนอเคล็ดไม่ลับในการเลือกหมวกกันน็อกมาแนะนำให้ทราบกันแล้วครับ
แน่นอนว่าสินค้าทุกอย่างต้องมีมาตรฐานรับรอง และหมวกกันน็อกก็เป็นของที่ต้องมีการทดสอบมาตรฐานมากด้วยเช่นกัน โดยมาตรฐานเหล่านี้จะทดสอบทั้งความแข็งแรง ความสะดวกสบายต่าง ๆ ในการสวม ซึ่งถ้านักบิดทั้งหลายเห็นชื่อหน่วยงานเหล่านี้แล้วรับรองว่าสามารถวางใจในมาตรฐานได้เลยล่ะ ซึ่งทั่วโลกจะมีหน่วยงานดูแลมาตรฐานต่าง ๆ ดังนี้ครับ
1. มาตรฐาน SNELL 2000
เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมากในหลายประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับเพราะมีการปรับปรุงมาตรฐานอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน โดยมีทั้งการทดสอบความแข็งแรงของหมวกในลักษณะต่าง ๆ รวมถึงความสะดวกสบายในการสวมใส่ และไม่บดบังทัศนวิสัยอีกด้วย
2. มาตรฐาน DOT (FMVSS 218)
กำหนดขึ้นโดยสำนักงานขนส่งของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่นิยมเช่นเดียวกับ SNELL แต่มีเกณฑ์ที่แตกต่างออกไป โดยนอกจากจะทดสอบมาตรฐานที่ตัวหมวกกันน็อกแล้ว DOT ยังดูไปถึงคุณภาพโรงงานและความสามารถในการผลิตด้วยว่าเพียงพอต่อความต้องการของตลาดหรือไม่ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีหมวกกันน็อกใช้กันได้อย่างทั่วถึง
3. มาตรฐาน E 2205
มาตรฐานนี้เป็นที่นิยมมากในทวีปยุโรป โดยมีวิธีการทดสอบที่แตกต่างจากของ SNELL และ DOT โดยใช้วิธีทดสอบแรงกระแทกแบบ 3 แกนซึ่งจะมีความรุนแรงกว่ามาตรฐานอื่น ๆ ซึ่งการทดสอบนี้จะใช้กับหมวกกันน็อกที่ใช้ในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในยุโรป จึงทำให้มาตรฐาน E 2205 เป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจนั่นเอง
4. มาตรฐาน JIS T 8133:2000
เป็นมาตรฐานการทดสอบที่คิดค้นและบังคับใช้ในประเทศญี่ปุ่น โดยนำเอาจุดเด่นของมาตรฐาน DOT และ E 2205 มารวมกัน ซึ่งการทดสอบจะแบ่งออกตามประเภทของหมวก เช่น หากเป็นหมวกแบบเต็มใบก็จะทดสอบด้วยแรงกด 2 ครั้ง หรือหากเป็นแบบครึ่งใบก็จะใช้แรงเพียงครั้งเดียว เป็นต้น
5. มาตรฐาน มอก. TIS 369-2539
แค่ชื่อก็พอจะทำให้ทราบแล้วว่าเป็นมาตรฐานของประเทศไทยเรานั่นเอง ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่บังคับให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าหมวกกันน็อกจำหน่ายใช้งานประเทศไทยต้องยึดถือ โดยปัจจุบันได้ใช้ร่วมกับมาตรฐานนานาชาติ UNECE R22 เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานโลก
หมวกกันน็อกมีกี่แบบ
หมวกกันน็อกที่เราใส่ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่แบบสองแบบเท่านั้น แค่ลองสังเกตตามท้องถนนคุณจะพบว่ามีหมวกกันน็อกหลากหลายแบบเหลือเกิน ซึ่งหมวกกันน็อกตามมาตรฐานสากลแบ่งออกเป็น 5 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้ครับ
เป็นหมวกกันน็อกที่ออกแบบมาให้รับกับกะโหลกศีรษะของมนุษย์ ปกป้องครอบคลุมตั้งแต่ท้ายทอยไปจนถึงปลายคาง มีช่องเจาะบริเวณตาและจมูกเพื่อให้มองเห็นและหายใจได้สะดวก ปิดด้วยกระจกบังลม ซึ่งอาจมีสีที่แตกต่างกันออกไป แต่กฎหมายไทยระบุว่ากระจกบังลมต้องใสพอจะมองเห็นใบหน้าผู้ขับขี่ได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจโดนปรับเช่นกัน นอกจากนี้ หมวกกันน็อกชนิดเต็มใบหน้ายังมีผลการวิจัยชี้ว่าสามารถปกป้องผู้ขับขี่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มักบาดเจ็บที่บริเวณคางมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์
หมวกกันน็อกชนิดนี้ดัดแปลงมาจากแบบเต็มหน้าเพื่อใช้ขี่แบบออฟโร้ดโดยเฉพาะ มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับแบบเต็มหน้า โดยเพิ่มส่วนบังแดดและยืดบริเวณที่ปิดคางออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันโคลนที่ปลิวมาขณะขับขี่ แต่ได้ถอดกระจกบังลมออกเพื่อให้อากาศผ่านได้สะดวก ซึ่งผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะเลือกสวมแว่นตาครอบเพื่อป้องกันโคลนที่ปลิวเข้ามาด้วย
ในต่างประเทศเรียกหมวกชนิดนี้ว่าแบบ 3/4 ซึ่งก็เรียกตามรูปร่างของมันคือครอบคลุมหัวเพียง 3 ใน 4 เท่านั้น แต่เป็นหมวกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าจะไม่สามารถปกป้องได้ทั้งใบหน้าก็ตาม หมวกชนิดนี้ จะมีกระจกบังลมครอบทั้งใบ ซึ่งช่วยป้องกันฝุ่นและแมลงที่อาจรบกวนการขับขี่ของเราได้
เป็นหมวกกันน็อกรูปร่างแบบเดียวกับแบบเต็มใบ แต่สามารถพับส่วนคางขึ้นมาได้ พัฒนามาจากแบบเต็มใบซึ่งไม่มีที่ปิดคาง โดยหมวกชนิดนี้ได้รับความนิยมมากในหมู่ตำรวจในต่างประเทศ เพราะสามารถเปิดบริเวณปากเพื่อพูดคุยหรือแม้กระทั่งกินอาหารได้ทันทีโดยไม่ต้องถอดหมวก และยังให้การปกป้องบริเวณคางเช่นเดียวกับแบบเต็มหน้าอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามหมวกชนิดนี้ยังมีมาตรฐาน 2 แบบได้แก่ –P ซึ่งแปลว่าออกแบบให้ปกป้องบริเวณคาง กับ –NP แปลว่าไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับบริเวณคางนั่นเอง
มีลักษณะครอบเพียงด้านบนของหัวเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่หน่วยงานมาตรฐานทั้ง SNELL และ DOT กำหนดเป็นขั้นต่ำสุดสำหรับผ่านมาตรฐาน โดยหมวกชนิดนี้ได้รับความนิยมช่วงยุค 1960 ปัจจุบันหลายหน่วยงานในต่างประเทศยกเลิกมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับหมวกชนิดนี้แล้ว เนื่องจากไม่สามารถปกป้องส่วนท้ายทอยซึ่งมีความสำคัญได้
วิธีเลือกหมวกกันน็อก
หลังจากรู้ถึงมาตรฐานและประเภทต่าง ๆ ของหมวกกันน็อกกันไปแล้ว ก็มาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือวิธีเลือกหมวกกันน็อกนั่นเอง รู้ไหมว่าหมวกกันน็อกที่ไม่พอดี อาจสร้างปัญหาให้กับผู้สวมใส่ได้ ทั้งอาจเลื่อนไปมาจนถึงขั้นหลุดออกจากหัวเราเมื่อเกิดอุบัติเหตุเลยล่ะ รู้อย่างนี้แล้ว จะอยู่เฉยได้ยังไง ถ้างั้นมาดูวิธีการเลือกหมวกกันน็อกที่เหมาะกับเรากันดีกว่า
1. เลือกหมวกให้พอดีกับหัว
หมวกกันน็อกก็เหมือนเสื้อผ้าชิ้นหนึ่งที่ต้องการความพอดี ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรู้ขนาดของหัวเราด้วย โดยจะวัดจากเส้นรอบวงตรงหน้าผากแล้วนำขนาดของเราไปเทียบกับตารางขนาดของผู้ผลิตหรือป้ายระบุขนาดที่ติดบนหมวกได้เลย ซึ่งเรื่องของขนาดหมวกถือว่ามีความสำคัญมากทีเดียว
แต่ถึงแม้ว่าเราจะวัดขนาดมาดีแค่ไหนก็ใช่ว่าจะใส่ได้พอดีทันที ดังนั้น เราควรทดสอบมันสักหน่อย เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุดนั่นเอง และการทดสอบก็ไม่ได้ยากเลย เพียงแค่ทำขั้นตอนเหล่านี้ครับ
สวมหมวกและรัดคางให้เรียบร้อย จากนั้นลองขยับหัวไปมาพอประมาณ ถ้าหมวกพอดี เราจะรู้สึกว่าหมวกไม่ขยับ แต่ถ้าหมวกขยับตามล่ะก็ ลองเลือกหมวกที่มีขนาดเล็กลงเลยครับ
ใช้มือดันหลังหมวก เกร็งคอไว้เล็กน้อย แล้วลองนำนิ้วก้อยสอดขึ้นไปบริเวณหน้าผากดู ถ้าหากสอดเข้าไปเต็ม ๆ ได้ก็ควรเลือกใบที่เล็กลงเช่นกัน เพราะช่องว่างระหว่างหน้าผากกับหมวกที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการกระแทกขึ้น
ปรับสายรัดคางให้แน่น จับหมวกกันน็อกให้มั่นแล้วลองดึงขึ้นลง ถ้าหากรู้สึกว่าหมวกเลื่อนขึ้นลงตามแต่หัวเราไม่ขยับตาม แปลว่าหมวกอาจไม่พอดี เพราะหมวกลักษณะนี้อาจหลุดได้หากเกิดอุบัติเหตุ
2. น้ำหนักกับกระจกบังลมก็สำคัญ
ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อมา เพราะน้ำหนักหมวกที่พอดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ของเราอย่างชัดเจน โดยลดอาการเมื่อยล้า เพิ่มความคล่องแคล่วในการหันมองทิศทางต่าง ๆ ส่วนกระจกบังลมก็ควรเปิดได้ง่าย แข็งแรง ยืดหยุ่น ในบางรุ่นก็สามารถป้องกันฝ้าได้ ซึ่งมีประโยชน์มากทีเดียว
3. ถอดออกได้รวดเร็วหลังประสบเหตุ
หมวกกันน็อกที่ถอดออกได้รวดเร็วมีความจำเป็นมากเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะเมื่อมันได้ทำหน้าที่ปกป้องเราไปแล้ว ก็ถึงเวลาของเจ้าหน้าที่พยาบาลที่จะมารับช่วงดูแลเราต่อ ซึ่งหากเกิดอาการบาดเจ็บสาหัสจนถึงขึ้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หมวกกันน็อกที่ถอดได้เร็วจะช่วยชีวิตนักบิดได้จริง ๆ โดยมาตรฐาน SNELL บังคับให้หมวกสามารถถอดโดยผู้อื่นภายใน 30 วินาทีด้วย ดังนั้น เมื่อเลือกหมวกก็ควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วยเช่นกัน
4. ห้ามใช้หมวกกันน็อกใบเดิมหลังจากกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุแล้ว
เป็นข้อหนึ่งที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับหมวกกันน็อก เนื่องจากว่าบางครั้งเราไม่เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในหมวกนั่นเอง หมวกกันน็อกส่วนใหญ่ใช้โฟมเป็นวัสดุซับแรงกระแทก ซึ่งเมื่อโฟมได้รับแรงกระแทกแล้วจะไม่คืนรูปกลับมาเหมือนเดิมจึงไม่สามารถปกป้องหัวของคุณได้อีกแล้ว ดังนั้น เมื่อหมวกได้ทำหน้าที่ปกป้องหัวของคุณแล้ว ก็ควรเปลี่ยนใหม่เสีย อย่าใช้ซ้ำด้วยความเสียดายเลยนะครับ
5. ถอดมาทำความสะอาดได้
หมวกกันน็อกเป็นเหมือนเสื้อผ้าที่สัมผัสกับร่างกายเราโดยตรง คิดดูว่าเมื่อเราขับขี่ไปบนถนนที่สภาพอากาศแสนจะร้อนระอุ เหงื่อหรือฝุ่นต่าง ๆ ก็จะสะสมอยู่ภายในหมวก คุณจึงควรทำความสะอาดหมวกบ้างเช่นเดียวกับการซักเสื้อผ้า เพื่อให้ง่ายจึงควรมองหาหมวกกันน็อกแบบที่สามารถถอดส่วนต่าง ๆ เช่น ผ้าซับใน หรือกระจกบังลม ออกมาล้างทำความสะอาดได้ ซึ่งนอกจากจะสะอาดแล้วยังเพิ่มอายุการใช้งานของหมวกอีกด้วย
6. หมวกกันน็อกก็ไฮเทคได้
เทคโนโลยีเองก็ไปได้ทุกทีจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่หมวกกันน็อก ซึ่งนักบิดหลายคนมีความจำเป็นต่างกันไป เช่น ต้องคอยคุยวิทยุกับเพื่อนเพื่อตามก๊วนให้ทัน หรืออาจจะฟังเสียงจากระบบนำทางก็เป็นได้ ผู้ผลิตหมวกกันน็อกหลายรายจึงผลิตหมวกติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเสียงหลายแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ในปัจจุบัน ทั้งนี้บรรดานักบิดจึงควรเลือกหมวกหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัยมาแล้วนั่นเอง
หลายคนที่ใช้หมวกกันน็อกอาจสงสัยว่าเวลาเราซื้อหมวกกันน็อกที่มีตรารับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ เช่น SNELL หรือ DOT นั้น จำเป็นต้องมีตรา มอก. บนหมวกหรือไม่ และถ้าไม่มีจะโดนจับหรือเปล่า ?
เพื่อคลายข้อสงสัย เราเลยนำข้อกฎหมายมาดูกันชัด ๆ ดีกว่า โดยอ้างอิงตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 122 วรรค 3 ข้อที่ 2 ซึ่งว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัยมีดังนี้
หมวกนิรภัยให้ใช้ได้ 3 แบบ คือ หมวกนิรภัยแบบปิดเต็มหน้า หมวกนิรภัย แบบเต็มใบและหมวกนิรภัยแบบครึ่งใบ ในกรณีที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับหมวกนิรภัยแบบ ใดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว หมวกนิรภัยที่จะใช้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ดังนั้น บรรดานักบิดนอกจากจะต้องสวมหมวกแล้ว ยังจำเป็นต้องสวมหมวกกันน็อกที่ได้รับรองจาก มอก. อีกด้วย และถ้าหากไม่ทำตามล่ะก็ กฎหมายได้ระบุโทษชัดเจนใน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 148 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ตามนี้...
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา ๑๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
สรุปง่าย ๆ ว่า หากสวมหมวกกันน็อกที่ไม่มีตรา มอก. ล่ะก็จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 500 บาทแน่นอน ดังนั้นเพื่อความสบายใจ ควรมองหาหมวกกันน็อกที่ติดตรา มอก. ให้ดี และผู้ผลิตและผู้จำหน่ายก็ควรมีความรับผิดชอบนำหมวกของตนไปตรวจมาตรฐาน มอก. ด้วยเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยและสบายใจครับ
เป็นอย่างไรบ้างกับสิ่งที่ต้องรู้ในการเลือกหมวกกันน็อกคู่ใจสักใบ เพราะมันเป็นอุปกรณ์ป้องกันนี้ช่วยชีวิตคนมานักต่อนักแล้ว และนอกจากจะช่วยให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ทุกคนมีโอกาสรอดจากอุบัติเหตุได้มากขึ้น ยังเป็นการเคารพกฎจราจร และเสริมสร้างความเท่ให้กับนักบิดได้เต็มที่อีกด้วย รู้อย่างนี้แล้ว สิงห์มอเตอร์ไซค์ก็ควรเลิกเสี่ยงไม่ใส่หมวกแล้วหันมาเลือกหมวกกันน็อกสุดเท่ที่ทั้งถูกใจและปลอดภัยกันได้แล้วครับ