เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก phonearena.com
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีผู้ผลิตที่ชาร์จแบตเตอรี่มือถือหลายรายสร้างที่ชาร์จให้มีคุณสมบัติรักษ์โลก ด้วยการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้คืนชีวิตให้แบตฯ มือถือมาบ้างแล้ว ซึ่งผู้ใช้สมาร์ทโฟนหลาย ๆ คนก็ดูจะถูกอกถูกใจกับที่ชาร์จแบบนี้อยู่ไม่น้อย แต่อาจมีเสียงติติงเล็กน้อยตรงที่ว่าบางครั้งก็เบื่อกับการต้องพกที่ชาร์จแบตฯ สำรองติดตัวไปด้วยตลอด
ทว่าวันนี้มีบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อว่า SunPartner Group ได้คิดค้นต้นแบบที่ชาร์จแบตฯ มือถือแบบใหม่ ที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่ามันจะมาในรูปลักษณ์อย่าง ฟิล์มใสติดหน้าจอ คล้าย ๆ กับที่เราใช้ฟิล์มติดกันรอยหน้าจอมือถือยังไงยังงั้นเลย เพียงแค่ทางทีมผู้คิดค้นได้นำเทคโนโลยีสุดไฮเทคที่เรียกว่า Wysips (What You See Is Photovoltaic Surface) มาใช้ ซึ่งเจ้าฟิล์มชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษทำหน้าที่คล้ายแผงโซลาร์เซลล์ ดูดพลังงานแสงอาทิตย์มาชาร์จแบตฯ ให้กับมือถือ เมื่อผู้ใช้งานต้องการชาร์จแบต ก็ต้องนำตัวเครื่องไปวางไว้ให้โดนแสงอาทิตย์ ทว่ามันก็มีข้อจำกัดตรงที่ใช้งานได้เฉพาะช่วงกลางวันหรือชาร์จได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ใช่ว่าฟิล์มดังกล่าวจะเข้ามาทำหน้าที่แทนที่ชาร์จสำรองได้เต็มรูปแบบซะทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ฟิล์มโซลาร์เซลล์รุ่นนี้ไม่ได้ใช้วัสดุในการทำที่มีประสิทธิภาพสูงนัก เนื่องจากจะได้ไม่ต้องตั้งราคาจำหน่ายสูงจนเกินไป เพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้ฟิล์มตัวต้นแบบมีความโปร่งใสราว 82 เปอร์เซ็นต์ แต่ทางบริษัทผู้ผลิตตั้งเป้าจะพัฒนาให้ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยล่าสุดตัวแทนของ SunPartner Group ได้เข้าไปคุยกับผู้ผลิตมือถือชั้นนำทั้งหมดสามรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหนึ่งในนั้นก็คือ โนเกีย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจได้เห็นฟิล์มชนิดนี้มาพร้อมกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ในอนาคตข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าเจ้าฟิล์มโซลาร์เซลล์จะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ชิ้นละ 2.30 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 70 บาท)