เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
โรคป่วยทางกายมีสัญญาณเตือน โดยการแสดงความผิดปกติทางร่างกายออกมาให้เห็น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด แต่สำหรับคนที่ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต นอกจากจะไม่แสดงอาการใด ๆ แล้ว การรักษาค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหมั่นพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยบ่อย ๆ ซึ่งมีแค่คนใกล้ชิดเท่านั้นที่รู้ ดังนั้นหากคุณอยากรู้ว่าคนรอบข้างมีอาการป่วยทางจิตอยู่หรือเปล่า ให้จับสังเกตจากพฤติกรรมและความผิดปกติเหล่านี้ดูนะครับ
1. เต็มไปด้วยความวิตกกังวล
โดยทั่วไปแล้วความวิตกกังวลนั้นจะหายไปเมื่อเราหาทางออกให้กับปัญหาได้ หรือมีโอกาสระบายให้ผู้อื่นฟัง แต่สำหรับคนที่มีอาการป่วยทางจิตนั้นตรงกันข้าม เพราะนอกจากจะไม่สามารถกำจัดความวิตกกังวลออกไปได้แล้ว ความรู้สึกนั้นจะรุนแรงและเพิ่มระดับมากขึ้นด้วย รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาอย่างเช่น ตื่นตกใจง่าย หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองเมื่อเจอกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้พวกเขาสามารถรับรู้การกระทำทุกอย่าง เพียงแต่ไม่สามารถควบคุมระบบการตอบสนองได้เท่านั้นเอง
2. อารมณ์แปรปรวนง่าย
คนที่มีอาการทางจิตนอกจากจะมีความวิตกกังวลแล้ว อารมณ์ของพวกเขายังแปรปรวนได้ง่ายอีกด้วย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้คงที่ได้ บางคนกำลังเสียใจแต่อยู่ดี ๆ ก็กลับดีใจขึ้นมา เปลี่ยนอารมณ์แบบกะทันหันซะอย่างนั้น ทั้งนี้หากปล่อยให้อาการเรื้อรังโดยไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังหรือโรคอารมณ์สองขั้วได้
3. กลายเป็นคนโรคจิต
ภาวะที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะหลงอยู่ในภาพหลอนหรือสิ่งที่สมองสร้างขึ้นมา อาจมีอาการสูญเสียการควบคุมทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวส่วนใหญ่ มักจะเป็นคนที่มีความวิตกกังวลสูง อารมณ์แปรปรวน เหงา หรือมีความเศร้าที่สะสมในจิตใจมากกว่าคนปกติทั่วไป
4. พฤติกรรมการกินผิดปกติ
เมื่อเทียบพฤติกรรมการกินในเวลาปกติแล้ว สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น กินมากขึ้นหรือกินอาหารได้น้อยลงผิดปกติ ส่งผลให้น้ำหนักของผู้ป่วยเปลี่ยนไปด้วย และอาจกลายเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน ไม่ว่าจะเป็น โรคอะนอเร็กเซียหรือบูลิเมีย เป็นต้น
5. พฤติกรรมเสพติด
พฤติกรรมเสพติดที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เพียงการติดสารเสพติดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาการที่หมกหมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป อย่างเช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ก เซ็กส์ หรือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นี่เองที่เป็นที่มาของการเกิดปัญหาและอาการป่วยทางจิตได้
การรักษา
1. พบจิตแพทย์
วิธีรักษาสำหรับผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตก็คือ การพูดคุยกับกับจิตแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะหาสาเหตุที่มาที่ไปของโรคได้ นอกจากนี้การพบจิตแพทย์ยังสามารถใช้กับการรักษาโรคเกี่ยวกับสมอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล บำบัดความคิด และพฤติกรรมของคนได้อีกด้วย
2. การใช้ยา
ผู้ป่วยทางจิตบางรายอาจต้องใช้ยารักษาควบคู่ไปกับการพบจิตแพทย์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การใช้ยาในการรักษาอาจระงับอาการได้ช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ยาที่ใช้ทั่วไปได้แก่ fluoxetine, olanzapine, paroxetine, carbamazepine, risperidone, sertraline เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากต้องการทานยาเพื่อรักษา ก็ควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์จะดีกว่า
อาการป่วยทางจิตไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นก็ควรรีบรักษาโดยด่วน เพราะถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ทั้งเรื่องของระบบการทำงานภายในร่างกาย สุขภาพ และบุคลิกของคน ๆ นั้น ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาใช้ชีวิตในสังคมได้ยากขึ้นและอาจโดนต่อต้านได้