เรื่องบางเรื่องเราเลือกที่จะปกปิดเอาไว้เพื่อไม่ให้คนรอบต้องไม่สบายใจ แต่เมื่อถึงยามเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วล่ะก็ เมื่ออยู่กับคุณหมอ นั่นเป็นยามที่คุณควรจะตรงไปตรงมาที่สุด โดยเฉพาะเมื่อหมอสอบถามประวัติคนไข้ หรือซักไซ้พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่คุณมี ต่อให้บางเรื่องเป็นสิ่งที่คุณไม่อยากให้ใครรู้ แต่นาทีนี้เขาถามอะไรมาก็ต้องตอบออกไปตรง ๆ แล้วล่ะ ปกปิดหมกเม็ดไว้อาจมีผลต่อการรักษา แล้วคนที่แย่ก็จะเป็นคุณเสียเอง และนี่คือ 7 สิ่ง ที่คนไข้ต้องไม่บิดเบือนคุณหมอครับ
1. พฤติกรรม สูบ-ดื่ม-เสพ
สามสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องตอบคำถามแพทย์อย่างตรงไปตรงมา ว่าคุณมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเสพสารเสพติดชนิดใดหรือไม่ หากมีแต่ละครั้งมากน้อย และถี่บ่อยแค่ไหน เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงถึงสภาพร่างกายของคุณเลยทีเดียว
2. ประวัติการผ่าตัดในอดีต
การผ่าตัดไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกวิธีรักษาคุณให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และได้ผลดีมากที่สุด
3. พฤติกรรมการกิน
แจ้งเรื่องพฤติกรรมการกินของคุณอย่างละเอียดว่าเป็นเช่นไร กินอาหารที่มีประโยชน์หรือไม่ กินน้อยเกินไปหรือว่ากินมากจนน้ำหนักขึ้นได้ง่าย น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียง 1-2 กิโลกรัม ก็อาจส่งผลต่อการรักษา หรือระยะเวลาการพักฟื้นของคุณได้เช่นกัน
4. ภาวะความเครียดและอาการซึมเศร้า
ยามที่คนเราเกิดความเครียด หรือมีอาการซึมเศร้าขึ้นมา หลายคนมักเลือกที่จะกลบเกลื่อนและปกปิดความรู้สึกของตัวเองไว้ เพื่อไม่ให้คนรอบข้างต้องเป็นกังวล แต่เมื่ออยู่ในขั้นตอนของกระบวนการรักษา เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเครียดและอาการวิตกกังวลเป็นบ่อเกิดของภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง จึงควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงสภาพจิตใจของคุณในขณะนั้น เพื่อที่เขาจะได้เลือกวิธีการรักษา ควบคู่กับการบำบัดจิตใจไปด้วยกันได้อย่างเหมาะสม
5. ประวัติการรับประทานยา
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องแจ้งให้ทีมรักษาทราบเสมอ คือ ชื่อยาที่คุณกำลังใช้ หรือเคยใช้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะประวัติข้อมูลเหล่านี้นับเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา รวมถึงจัดยาที่เหมาะสมที่สุดให้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา รวมไปถึงความปลอดภัยของคุณเอง
6. อาการแพ้ที่มี
แจ้งอาการแพ้ที่คุณมีให้แพทย์ทราบ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ต่าง ๆ อันเนื่องจากฝุ่น อากาศ และที่สำคัญที่สุดคือ ประวัติการแพ้ยา
7. อาการเลือดออกปนกับอุจจาระ
อาการเลือดออกปนมากับอุจจาระไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ มันอาจไม่ใช่อาการของบาดแผลที่ทวารหนักธรรมดา ๆ แต่บ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งยังสามารถรักษาได้หากพบในระยะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นหากคุณพบว่าตัวเองมีเลือดออกยามขับถ่าย จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ในยามที่คุณเจ็บไข้ได้ป่วย องค์ประกอบและพฤติกรรมทุกสิ่งสามารถส่งผลถึงอาการป่วย และกระบวนการรักษาได้ หากอยากหายไว ๆ ก็ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง และตรงไปตรงมาแก่แพทย์ผู้ทำการรักษา เมื่อมีข้อมูลที่ดีพร้อม ก็เอื้อประโยชน์ให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่คุณจะได้กลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติกับคนที่รักและเป็นห่วงคุณโดยเร็วยังไงล่ะครับ
รวมเรื่องเด็ด สุดยอดของผู้ชาย สาวสวยเซ็กซี่ แฟชั่น รถยนต์ คลิกที่นี่
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่