เราเชื่อว่ามีคุณผู้ชายหลาย ๆ คนนึกสงสัยเกี่ยวกับวิธีออกกำลังของตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ทำไมน้าาาา น้ำหนักถึงไม่ลดหรือกล้ามเนื้อไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่คิดไว้สักที ทั้งที่พยายามออกกำลังเป็นประจำแล้วนี่นา ผ่านไป 2-3 เดือน ทุกอย่างก็ดูไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไร ไม่รู้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ ?
1. ไม่เพิ่มความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับการออกกำลัง
ไม่ว่าคุณจะออกกำลังโดยการวิ่งหรือเล่นเวท ร่างกายจะใช้พลังงานและกล้ามเนื้อเยอะมากจนรู้สึกได้ในช่วงแรก ๆ แต่พอผ่านไปได้สักระยะ เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว แต่ก็ยังออกกำลังเท่าเดิมไปเรื่อย ๆ อยู่ บอกเลยว่าคุณจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการแน่นอน เพราะร่างกายไม่ได้พัฒนาขีดจำกัดไปมากกว่าเดิม ทางที่ดีควรเพิ่มความท้าทายให้ร่างกายโดยการเพิ่มระยะทางวิ่งและเพิ่มน้ำหนักเวท เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์บนวารสาร The Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics เผยว่า ผู้ชายที่ปรับวิธีออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ สามารถลดน้ำหนักได้ 9.2 กิโลกรัมภายในระยะเวลา 6 เดือน ส่วนคนที่ออกกำลังแบบเดิม ๆ ลดไปเพียง 3.1 กิโลกรัมในเวลาเท่ากัน
2. กินคาร์โบไฮเดรตผิดประเภท
หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานสำคัญต่อการออกกำลังกายอีกชนิดหนึ่ง ทว่าบางคนดันเลือกกินคาร์โบไฮเดรตชนิดไม่ดีจากอาหารที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว และพาสต้า เป็นต้น ซึ่งคาร์โบไฮเดรตชนิดนี้จะไปสะสมในร่างกายในรูปแบบของไขมันแทนที่จะนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เอาเป็นว่าแนะนำให้กินอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีแทน ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีทและโฮลเกรน ซึ่งจะให้คาร์โบไฮเดรตชนิดดีที่ร่างกายสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานในการออกกำลังได้ดีกว่า
3. กินธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
นอกเหนือไปจากการกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว การเลือกกินอาหารที่มีธาตุเหล็กก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากธาตุเหล็กทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อทนต่อความเมื่อยล้าได้ดีขึ้น โดยผลการวิจัยที่ปรากฏในวารสาร Quality of Life Research พบว่า สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ง่าย เป็นเพราะว่าร่างกายขาดธาตุเหล็กนั่นเอง ดังนั้นแนะนำให้กินอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่นอาหารจำพวก เนื้อวัว เนื้อหมู ผักใบเขียว และถั่ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงเลือดเพื่อป้องกันโรคโลหิตจางด้วย
4. ออกกำลังผิดวิธี
การออกกำลังผิดวิธีไม่เพียงแค่ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังทำให้คุณไปไม่ถึงเป้าหมายในการออกกำลังที่วางไว้ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องของการลดน้ำหนักหรือสร้างกล้ามเนื้อก็ตาม ฉะนั้นใครที่เพิ่งออกกำลังได้ไม่นานและยังไม่รู้วิธีฝึกที่ถูกต้อง แนะนำว่าให้ขอคำปรึกษาจากเทรนเนอร์ก่อนเสมอ
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงบนวารสาร Sports Medicine พบว่า การนอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมงแบบต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวได้ช้า เมื่อไปออกกำลังกายก็จะรู้สึกเหนื่อยง่ายอย่างเห็นได้ชัด เอาเป็นว่าควรพักผ่อนให้เต็มอิ่มอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนได้เพียงพอสำหรับการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ
6. ไม่ยืดกล้ามเนื้อก่อนฝึก
สำหรับคนที่เพิ่งออกกำลังมาได้ไม่นาน แล้วฝึกได้ไม่เท่าไรก็รู้สึกปวดตามกล้ามเนื้อ นั่นอาจเป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อของคุณไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ ส่งผลให้ปวดกล้ามเนื้อและอาจถึงขั้นกล้ามเนื้อฉีกขาดเลยก็เป็นได้ ทางที่ดีแนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังทุกครั้งสัก 5 นาที เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกายและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อก่อนออกกำลัง
7. ใช้เวลาพักระหว่างเซตนานเกินไป
โดยทั่วไปแล้ว การพักระหว่างเซตจะใช้เวลาราว ๆ 30 วินาทีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 90 วินาที แล้วฝึกเซตต่อไปนั้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อถูกบริหารอย่างต่อเนื่อง แต่หากพักนานเกินไป ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่พร้อมทำงานจนต้องวอร์มใหม่อีกรอบ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ต้องใช้มีความยืดหยุ่นและพร้อมจะรับการฝึกอีกครั้ง
เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้ว หนุ่ม ๆ คนไหนที่อยากออกกำลังกายให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้วละก็ ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้กับตัวเองได้เลย เชื่อว่าน่าจะมีส่วนช่วยให้คุณออกกำลังได้สำเร็จตามเป้าที่วางไว้ได้แน่นอน
ข้อมูลจาก fashionbeans.com และ muscleandfitness.com