สำหรับช่างภาพมือใหม่และมืออาชีพแล้ว นอกจากเลนส์คิทติดกล้องที่ต้องมีใช้งานเป็นประจำแล้ว เลนส์เทเลโฟโต้ เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน แถมยังมีให้เลือกหลายแบบ หลายราคาอีกด้วย ว่าแต่...ทำไมคุณถึงควรมีเลนส์เทเลโฟโต้น่ะเหรอ ? ถ้างั้นลองไปดูเหตุผลที่เรานำมาจาก Fotoinfo เลยดีกว่าครับ
เข้าไปถ่ายใกล้ ๆ ไม่ได้
เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ เพราะไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพวัตถุที่ต้องการในระยะใกล้ ๆ ได้ เช่น ถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ เพราะเพียงแค่ขยับตัวเข้าไปในระยะที่เราเองยังรู้สึกว่ายังห่างอยู่มาก แต่พวกเขาก็บินหนีไปแล้ว หรือสัตว์ที่มีอันตราย อย่างเสือหรือจระเข้ ใช้ช่วงเทเลนั่นแหละครับ ปลอดภัยกว่า
อีกกรณีหนึ่งคือ เป็นวัตถุปกตินี่แหละ แต่มีอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้าใกล้ ๆ ได้ เช่น ดอกไม้ขึ้นอยู่กลางธารน้ำตกที่ถาโถมลงมาอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าจะต้องเข้าไปถ่ายใกล้ ๆ ก็คงต้องใช้กล้องกันน้ำ หรือดอกไม้หายากที่เบ่งบานอยู่บนยอดไม้ อะไรแบบนี้ครับ เลนส์ช่วงนี้ใช้ได้ตั้งแต่ 200 มม. ไปจนถึง 500 หรือ 600 มม. แล้วแต่งบประมาณด้วยครับ ซึ่งจะเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ซูม หรือทางยาวโฟกัสเดี่ยวก็ได้เช่นกัน
ต้องการหลบเลี่ยงฉากหลังรก ๆ
เป็นความรู้พื้นฐานที่รู้มาตั้งตอนเริ่มต้นเรียนถ่ายภาพ หรือศึกษาเรื่องถ่ายภาพ ถึงคุณสมบัติและมุมรับภาพของเลนส์แต่ละช่วง ซึ่งเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ จะมีมุมรับภาพที่แคบ ดังนั้น เราจึงใช้คุณสมบัติแบบนี้แหละ มาช่วยให้เราได้ภาพที่โดดเด่นน่าสนใจมากขึ้น ลองเปรียบเทียบดูภาพซับเจคต์เดียวกัน ระหว่างภาพที่มีฉากหลังรกรุงรัง กับภาพที่มีฉากหลังเรียบ เนียน ซับเจคต์ของภาพหลังจะน่าสนใจ และมีความโดดเด่นมากกว่า
การหลบเลี่ยงฉากหลังรก ๆ ก็ไม่ได้ยากเย็นแต่อย่างใด ไม่ใช่ว่าจะต้องไปโค่น ดึง ทึ้ง กระชากให้หายออกไปจากเฟรมภาพ เพียงแค่ขยับเปลี่ยนมุมมองนิดหน่อยเท่านั้นเอง ลองขยับดูว่ามากแค่ไหนฉากหลังรก ๆ จึงจะหลุดออกไปจากเฟรม แต่ถ้าไม่ได้จริง อาจจะต้องมองหาซับเจคต์ใหม่ หรือเลือกวิธีถ่ายภาพแบบใหม่ เช่น ใช่แฟลช เพื่อควบคุมฉากหลังแทน เป็นต้น
เลือกฉากหลังที่ต้องการได้ง่ายกว่า
ก็เป็นการใช้คุณสมบัติมุมรับภาพที่แคบของเลนส์เทเลโฟโต้เช่นเดียวกันกับหัวข้อที่ผ่านมา แต่เป็นการขยับหาฉากหลังที่จะช่วยให้ซับเจคต์โดดเด่นขึ้น เช่น ฉากหลังที่เป็นโบเก้ของโฟประดับต่าง ๆ หรือโบเก้จากแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านใบไม้ลงมา หรือเป็นการเลือกฉากหลังโทนสีเรียบ ๆ ซึ่งอาจจะมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก แต่มุมรับภาพที่แคบ ๆ ของเลนส์เทเลโฟโต้ ก็สามารถครอปฉากหลังให้เหลือเพียงพื้นที่เรียบ ๆ ได้นั่นเองครับ
การใช้เลนส์ไวด์ จะทำให้ได้พื้นที่ของฉากหลังมากกว่า ซึ่งบางครั้งอาจจะมีส่วนที่ไม่ได้เสริมความน่าสนใจให้กับภาพถ่าย ดังนั้นเลนส์เทเลโฟโต้จะช่วยให้ควบคุมฉากหลังให้ดูได้ตามที่ต้องการง่ายขึ้น ซึ่งช่วงเลนส์ยาวมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย โดยถ้าหากฉากหลังไม่ได้รกมาก มีพื้นที่ในการถ่ายภาพมากพอ และต้องการบรรยากาศของฉากหลังบ้าง ก็เลือกใช้ช่วง 70 มม.-105 มม. แต่ถ้าหากว่าฉากหลังรกมาก ก็เลือกใช้ช่วง 200 มม.
ต้องการดึงฉากหลังให้ดูใกล้เข้ามามากขึ้น
หนึ่งในคุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้ ที่ให้ความรู้สึกว่า สามารถดึงสิ่งที่อยู่ไกล ๆ ให้ดูเหมือนอยู่ใกล้ ๆ ได้ หรือให้ดูว่าสิ่งที่อยู่ห่างกันดูเหมือนอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องนำเอาคุณสมบัตินี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาพของเรา
โดยเมื่อใช้เลนส์เทเลโฟโต้ถ่ายภาพครอบครัวหรือคนพิเศษ ก็สามารถถ่ายจากระยะห่างออกมา ไม่ต้องเข้าไปใกล้ ๆ และฉากหลังจะดูใหญ่เหมือนเดิมอีกด้วย แต่วิธีนี้จะต้องมีพื้นที่สำหรับถอยออกมายืนถ่ายภาพด้วย ถ้าหากว่าสถานที่นั้นใหญ่โตมโหฬาร แต่ถ้าไม่ใหญ่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องถอยมาก และก็ขึ้นอยู่กับช่วงเลนส์ด้วยครับ ตั้งแต่ช่วง 100 มม. ขึ้นไป แล้วถ้าหากว่าต้องการฉากหลังที่ชัดมากขึ้น ก็ใช่รูรับแสงแคบลงเท่านั้นเอง
ต้องการภาพชัดตื้น
คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของเลนส์เทเลโฟโต้คือ มีช่วงชัดลึกที่แคบมาก พูดง่าย ๆ คือมีระยะชัดตื้นมาก ดังนั้นจึงช่วยให้ถ่ายภาพที่เน้นซับเจคต์ให้โดดเด่นออกจากฉากหลังและฉากหน้าที่ดูเบลอ ๆ นั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอิงกับขนาดรูรับแสงกว้าง ๆ รวมทั้งระยะห่างระหว่างกล้องกับซับเจคต์ และซับเจคต์กับฉากหลังด้วยเช่นเดียวกัน
เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีรูรับแสงกว้างมาก ๆ อย่าง f/1.4 หรือ f/1.2 จะช่วยให้ได้ภาพที่ชัดตื้นมาก หรือภาพแบบที่เรียกว่าหลังละลาย ซึ่งช่างภาพ Portrait มักจะใช้เพื่อดึงให้ซับเจคต์โดดเด่นเป็นพิเศษ
ภาพจาก nikonrumors
ที่มา หนังสือFOTOINFO ปีที่ 10 ฉบับที่ 120 มีนาคม 2558