x close

4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความไวแสงของกล้องถ่ายรูป



          เกร็ดความรู้เล็ก ๆ เกี่ยวกับ ค่าความไวแสง หรือ ISO ของกล้องถ่ายรูปที่ช่างภาพควรทราบ เพื่อให้ภาพออกมาสวยสมจริง

          สิ่งสำคัญสำหรับการใช้กล้องถ่ายรูปที่ช่างภาพมือใหม่ไม่ควรมองข้ามความสำคัญไปก็คือเรื่องของ ค่าความไวแสง เพราะสิ่งนี้มีผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายอยู่ไม่น้อย ดังนั้นลองมาดูข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวความไวแสงกันก่อนเลยดีกว่าครับ

           สามารถมีสัญญาณรบกวนที่น้อยได้ เมื่อใช้ความไวแสงสูง

          ย้อนกลับไปในสมัยฟิล์ม ความจริงหนึ่งที่นักถ่ายภาพต้องเผชิญก็คือเมื่อใช้ฟิล์มความไวแสงสูงหรือพุชฟิล์ม (ปรับความไวแสงของกล้องสูงกว่าฟิล์มที่ใช้แล้วเพิ่มเวลาในการล้างฟิล์มเพื่อให้ภาพออกมารับแสงถูกต้อง) จะต้องพบกับเกรนของภาพที่มากจนแยกรายละเอียดที่อยู่ในภาพได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่อยู่ในเงา แต่ด้วยการลดสัญญาณรบกวนที่ล้ำหน้าของกล้องดิจิตอลในปัจจุบันและซอฟต์แวร์แปลงไฟล์ RAW จะให้คุณภาพของภาพที่ความไวแสงสูงขึ้นอย่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับฟิล์มความไวแสงสูง

          ไม่เพียงแค่นี้ เพราะความไวแสงสูงทางดิจิตอลซึ่งให้สัญญาณรบกวนที่น้อยในปัจจุบัน ยังทำให้นักถ่ายภาพสามารถทำสิ่งที่อาจไม่เคยคิดก่อน เช่น สามารถใช้เวลาบันทึกภาพตอนกลางคืนที่น้อยลงจนบันทึกภาพดวงดาวที่ไม่เบลอจากการเคลื่อนที่ได้ หรือถ่ายภาพภายในอาคารที่แสงน้อยมากโดยไม่ต้องใช้แฟลช เนื่องจากนักถ่ายภาพในปัจจุบันรู้ว่าสามารถดึงรายละเอียดจากส่วนที่มีของภาพได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาอัตราส่วนของสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนให้ดีขึ้นจนทำให้ความไวแสงสูงไม่ใช่ความลำบากใจที่จะใช้


ภาพจาก amazon

          ความไวแสงสูงของกล้องดิจิตอลไม่มีคอนทราสต์สูงเหมือนฟิล์ม

          เมื่อต้องการฟิล์มไวแสงสูงถ่ายภาพ นักถ่ายภาพในอดีตมักจะพุชฟิล์มโดยการถ่ายภาพให้รับแสงอันเดอร์แล้วล้างฟิล์มให้นานขึ้น ซึ่งวิธีการนี้แม้จะช่วยให้ใช้ความไวแสงสูงขึ้นกว่าความไวแสงปกติของฟิล์มได้ แต่ก็มีผลเสียหลักคือเป็นการฉุดให้คุณภาพของภาพลดลง ทั้งจากเรื่องเกรนของการที่ระบุก่อนหน้านี้ รวมทั้งคอนทราสต์ที่สูงของภาพจนทำให้บางครั้งภาพที่ถ่ายด้วยความไวแสงสูงดูราวกับภาพแอบสแตรค ซึ่งนักถ่ายภาพที่ไม่เคยใช้ฟิล์มอาจคิดภาพไม่ออก
 แต่ลองจินตนาการถึงภาพที่มีเกรนมาก ๆ พร้อมกับรายละเอียดที่น้อยทั้งในส่วนเงาและไฮไลต์ และที่สำคัญคือไม่สารถดึงรายละเอียดได้ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันเมื่อถ่ายภาพแบบ RAW ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดในส่วนที่เป็นเงาได้ โดยมีเพียงสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถรักษารายละเอียดในส่วนเงามืดได้ก็คือ ภาพที่รับแสงอันเดอร์ แต่หากถ่ายภาพดิจิตอลให้โอเวอร์เล็กน้อยก็จะสามารถดึงรายละเอียดในส่วนมืดได้อย่างสะดวกโดยที่ไม่มีเกรนและคอนทราสต์ให้กังวล

           ความไวแสงสูงสามารถให้ประสิทธิภาพได้ไม่ต่างกับความไวแสงต่ำ

          หากถ่ายภาพที่ความไวแสง ISO 400 หรือต่ำกว่าก็ไม่จำเป็นต้องกังวลกับเรื่องประสิทธิภาพที่ความไวแสงสูงกว่า เพราะที่ช่วงความไวแสงนี้ กล้องทุกรุ่นในปัจจุบันจะมีสัญญาณรบกวนน้อยพร้อมกับให้คุณภาพและรายละเอียดของภาพที่สูง เพราะความไวแสง ISO 400 หรือสูงกว่านี้ของกล้องในปัจจุบันจะให้ภาพที่แตกต่างกับ ISO 100 ของกล้องในอดีต โดยหากสิ่งที่ให้ความสำคัญคือคุณภาพของภาพก็ควรเลือกใช้ความไวแสงสูงที่ยังให้อัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนที่สูงอยู่ และอีกสิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือสัญญาณรบกวนไม่ได้มีเฉพาะที่ความไวแสงสูงเท่านั้นแต่ยังมีที่ความไวแสงต่ำด้วย ดังนั้นกล้องรุ่นที่ความไวแสงสูงกว่าพร้อมกับสัญญาณรบกวนที่น้อยกว่าจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อคิดที่จะซื้อกล้อง


ภาพจาก usa.canon

           บางครั้งการเลือกใช้ความไวแสงสูงอาจเป็นทางเลือกที่ดี

          นี่อาจเป็นคำแนะนำที่แปลก แต่เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยและต้องการความเร็วชัดเตอร์ที่สูงเช่น 1/1.25 วินาที เพื่อไม่ให้วัตถุในภาพเบลอ โดยที่เปิดรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์แล้ว และความไวแสงที่ใช้อยู่อย่างเช่น ISO 800 ยังทำได้แค่เกือบให้ค่าบันทึกภาพที่พอดี ดังนั้นวิธีเดียวที่จะทำให้ได้ค่าบันทึกภาพที่ดีขึ้นก็คือปรับความไวแสงของกล้องไปที่ ISO 1600 เนื่องจากหากบันทึกภาพแบบ RAW ก็จะได้ประโยชน์จากการที่สามารถดึงรายละเอียดในส่วนมืดขึ้นมาได้จากภาพที่โอเวอร์เล็กน้อย และทำให้สามารถได้รายละเอียดทั่วทั้งส่วนที่มืดและสว่างได้ตราบเท่าที่ส่วนไฮไลต์ของภาพยังไม่สว่างมากจนขาดรายละเอียด เนื่องจากภาพ RAW ที่รับแสงโอเวอร์จะสามารถให้ภาพคุณภาพสูงกว่าหลังจากปรับและแปลงไฟล์แล้ว เมื่อเทียบกับการแก้ไขภาพ RAW ที่รับแสงอันเดอร์

          อาจมีคำแนะนำว่าการเพิ่มความไวแสงจะสร้างความชัดเจนให้แก่สัญญาณรบกวนที่มาพร้อมกับภาพที่รับแสงโอเวอร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความจริง แต่กับรายละเอียดของส่วนมืดนั้นจะถูกดึงรายละเอียดขึ้นมาได้จากส่วนมืดที่สว่างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ภาพเต็มไปด้วย โทนที่มืดซึ่งไม้องกังวลว่าจะมีไฮไลต์ที่สว่างมากจนไม่มีรายละเอียด


ที่มา หนังสือFOTOINFO ISSUE 119 กุมภาพันธ์ 2558
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก digitalcameraworld


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความไวแสงของกล้องถ่ายรูป อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2558 เวลา 10:38:26 7,497 อ่าน
TOP