x close

วิธีดูแลเกียร์จักรยานเสือหมอบด้วยวิธีง่าย ๆ

จักรยานเสือหมอบ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก bikerumor เเละ bikeexchange

           ทุกวันนี้ หลายคนเริ่มหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ซึ่งจักรยานแบบหนึ่งที่มักพบเห็นได้บ่อย ๆ ตามท้องถนนคงหนีไม่พ้น จักรยานเสือหมอบ หรือที่เรียกกันว่า Road Bike ซึ่งออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนท้องถนน โดยส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่ทำให้บรรดาเสือหมอบสามารถทำความเร็วได้ดีกว่าจักรยานประเภทอื่น ๆ ก็คือ ชุดเกียร์ นั่นเอง แต่ปัญหาก็คือชุดเกียร์ของเสือหมอบเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้งานหนัก จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลและปรับแต่งอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งบางคนอาจยังไม่รู้วิธีการดูแลเกียร์ที่ถูกต้อง กระปุกดอทคอมจึงอยากแนะนำให้นักปั่นทั้งหลายได้ทราบวิธีการดูแลรักษาเกียร์เบื้องต้นให้ได้ทราบกันครับ

เสือหมอบ

วิธีการใช้งานเกียร์เสือหมอบที่เหมาะสม

           เกียร์ของจักรยานเสือหมอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ จานหน้าและจานหลัง โดยในส่วนของจานหน้า เสือหมอบมักจะมีเพียง 2 จาน นิยมใช้ในการผ่อนแรงตามสภาพภูมิประเทศ เช่น ถ้าหากเป็นพื้นทางเรียบที่เน้นทำความเร็ว ก็จะใช้จานหน้าวงใหญ่จะได้รอบมากกว่า แต่ถ้าต้องปั่นขึ้นเนิน มักจะใช้จานหน้าวงเล็กเพื่อผ่อนแรง ส่วนจานหลังจะใช้สำหรับเร่งความเร็ว โดยไล่จากใหญ่ไปหาเล็ก ยิ่งเล็กก็จะยิ่งเร็วขึ้น

           ตำแหน่งของเกียร์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาสภาพของโซ่และชุดเกียร์ ไม่ควรจัดตำแหน่งเกียร์ให้ทแยงกัน เพราะโซ่จะเกิดการบิดตัว จนนำไปสู่ความเสียหายในที่สุด เช่น เมื่อใช้จานหน้าวงใหญ่ ก็ไม่ควรใช้เกียร์หลังวงใหญ่อย่างเบอร์ 1, 2 หรือ 3 และในทางตรงกันข้าม เมื่อใช้จานหน้าวงเล็ก ก็ไม่ควรใช้เกียร์หลังวงเล็กอย่างเกียร์ 8, 9 หรือ 10 เช่นกัน

วิธีการตั้งค่าเกียร์จักรยานเสือหมอบเบื้องต้น

           เมื่อใช้งานจักรยานเป็นเวลานาน ก็อาจมีบ้างโอกาสที่เกียร์จักรยานจะทำงานผิดพลาดได้ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์หรืออาจถึงขั้นโซ่ตกออกจากจานปั่นระหว่างเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งคุณสามารถจัดการมันด้วยตัวเองได้ไม่ยากครับ

            วิธีตั้งค่าเกียร์หน้า



           1. มองหาสกรูสองตัวที่อยู่ด้านบนสับจานหน้า โดยตัวหนึ่งจะทำหน้าที่จำกัดระยะการผลักออกด้านนอกขึ้นสู่เกียร์สูงเรียกว่าสกรู H มักอยู่ตำแหน่งใกล้ตัวถังจักรยาน อีกตัวหนึ่งจะทำหน้าที่จำกัดระยะดึงเข้าด้านในทำให้เราปั่นเกียร์ต่ำเรียกว่าสกรู L มักอยู่ใกล้จานหมุน

           2. ตั้งค่าสกรู L ก่อน โดยให้ลองหมุนจานปั่นซึ่งตั้งเกียร์อยู่ที่เกียร์สูงแล้วจึงเปลี่ยนเกียร์ลง ถ้าโซ่ไม่ดึงลงมาให้ใช้ไขควงหมุนสกรูทวนเข็มนาฬิกา หรือถ้าเปลี่ยนเกียร์แล้วโซ่หลุดออกจากจานหมุนก็ให้หมุนสกรูไปตามเข็มนาฬิกา ทำจนสามารถเปลี่ยนเกียร์ลงได้อย่างราบรื่น

           3. เมื่อสามารถเปลี่ยนเกียร์ลงได้แล้วก็มาดูการเปลี่ยนขึ้นบ้าง โดยให้ตั้งค่าที่สกรูตัว H ถ้าหากลองปั่นแล้วเปลี่ยนเกียร์ โซ่ไม่ตามขึ้นมาจนถึงจานปั่น ให้ไขสกรูทวนเข็มนาฬิกา แต่ถ้าเปลี่ยนเกียร์แล้วโซ่หลุดออกจากจานปั่น แปลว่าสับจานหน้าดันโซ่มากเกินไป ให้ไขสกรูตามเข็มนาฬิกา ไขจนสับจานหน้าสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างแม่นยำ

            วิธีตั้งค่าเกียร์หลัง



           สำหรับเกียร์หลังเองก็มักประสบปัญหาคล้ายกับเกียร์หน้าคือ โซ่เคลื่อนที่ช้าและไม่ตรงกับความต้องการ แต่คุณสามารถแก้ไขได้ในเบื้องต้นด้วยการปรับแต่งตัวเร่งสายเกียร์ที่อยู่บริเวณตีนผีซึ่งมีวิธีการดังนี้

           ขณะที่เปลี่ยนเกียร์ลง แต่โซ่ไม่ยอมกระโดดข้ามจากจานเล็กที่สุดไปยังจานที่ใหญ่กว่าได้ แปลว่าสายเกียร์หย่อนเกินไป ให้หมุนตัวเร่งให้ตึงขึ้นเล็กน้อยจนโซ่สามารถกระโดดข้ามไปได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าโซ่กระโดดข้ามไกลเกินไป ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเสียงและความเร็วในการเข้าที่ของโซ่ แสดงว่าสายเกียร์ตึงเกินไป ให้คลายสาย จากนั้นลองไล่ขึ้นลงให้ครบแล้วปรับแต่งจนเปลี่ยนเกียร์ได้ลื่นไหลทั้งหมด เป็นอันเสร็จ

           ได้รู้วิธีการดูแลเกียร์ของจักรยานเสือหมอบแบบเบื้องต้นกันไปแล้ว หวังว่านักปั่นทั้งหลายคงจะนำข้อความรู้ที่เรานำมาแนะนำในคราวนี้ไปใช้เพื่อดูแลจักรยานคันโปรด และมีความสุขกับการปั่นจักรยานได้มากขึ้นนะครับ











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดูแลเกียร์จักรยานเสือหมอบด้วยวิธีง่าย ๆ อัปเดตล่าสุด 12 มีนาคม 2557 เวลา 17:56:30 36,681 อ่าน
TOP