
ยานวอยเอเจอร์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก NASA
ยานวอยเอเจอร์ 1 หลุดออกนอกระบบสุริยะเรียบร้อยแล้ว หลังจากขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศเมื่อ 36 ปีก่อน และถือเป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถเดินทางออกนอกระบบสุริยะได้สำเร็จ โดยยานวอยเอเจอร์ 1 กำลังปฏิบัติภารกิจสำรวจมวลสารระหว่างดวงดาว เป็นภารกิจต่อไป
เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าว โดยอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ว่า ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) ได้เดินทางออกจากระบบสุริยะ เพื่อเข้าสู่มวลสารระหว่างดวงดาว (Interstellar Medium หรือ ISM) เพื่อปฏิบัติภารกิจใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ยานวอยเอเจอร์ 1 เริ่มภารกิจแรกเมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์สามารถเดินออกนอกระบบสุริยะ และผ่านชั้นฟองอากาศที่แบ่งระบบสุริยะออกจากจักรวาล หรือเฮลิโอสเฟียร์ ได้
โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับตำแหน่งของยานวอยเอเจอร์ 1 ด้วยค่าสนามแม่เหล็ก นักวิทยาศาสตร์กลับไม่พบการเปลี่ยนเแปลงใด ๆ รอบยานวอยเอเจอร์ 1 เลยแม้แต่น้อย ทั้งที่เมื่อออกจากเฮลิโอสเฟียร์น่าจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นกับยานบ้าง ซึ่ง มาร์ค สวิสดัค นักวิทยาศาสตร์ของสมาคมนักวิจัยแห่งสถาบันเพื่อการวิจัยอิเล็คตรอนและฟิสิกส์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ระบุว่า ข้อมูลการตรวจวัดระดับอนุภาคมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการวัดค่าความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กรอบยานอวกาศ พร้อมทั้งให้คำอธิบายเกี่ยวกับการเดินทางของยานวอยเอเจอร์ 1 ไว้ว่า เหมือนกับการเปิดประตูออกจากพื้นที่ที่มีอากาศเย็นสู่พื้นที่ที่มีอากาศร้อน โดยช่วง 1 เดือนแรกอาจจะรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ สลับกันบ้าง แต่จะสามารถสัมผัสความร้อนอย่างเต็มที่หลังผ่านพ้นประตูไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยานวอยเอเจอร์ 1 กำลังเข้าสู่การปฏิบัติภารกิจครั้งใหม่อย่างเต็มตัว ในการสำรวจมวลสารระหว่างดวงดาวเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเริ่มจากการศึกษาลมอนุภาคที่เกิดจากดาวนอกระบบสุริยะว่า มีผลกับเฮลิโอสเฟียร์อย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติภารกิจนอกระบบสุริยะครั้งแรกของยานวอยเอเจอร์ และเป็นครั้งแรกของโลกที่มียานอวกาศเดินทางผ่านชั้นเฮลิโอสเฟียร์ได้

ภาพจำลองยานวอยเอเจอร์หลุดออกนอกระบบสุริยะ