ทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าผู้ชาย ภัยเงียบที่อาจไม่รู้ตัว โรคทางจิตเวชที่ทำร้ายผู้ชายไม่แพ้ผู้หญิง อาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตายได้

เมื่อพูดถึงภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า หลายคนอาจนึกถึงภาพของผู้หญิงที่ร้องไห้ เศร้าหมอง หรือเก็บตัวไม่พบปะใคร แต่ความจริงแล้วผู้ชายก็เผชิญกับโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ลักษณะการแสดงออกอาจต่างออกไป จนหลายครั้งก็กลายเป็นภัยเงียบ ที่แม้แต่ตัวเองหรือคนใกล้ชิดก็ไม่ทันสังเกต วันนี้เราจึงจะมาให้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งการตรวจเช็กอาการและวิธีรักษาโรคซึมเศร้าผู้ชายกัน
ผู้ชายก็เป็นซึมเศร้าได้
กรมสุขภาพจิตเคยเปิดเผยผลวิจัยส่วนใหญ่ซึ่งพบว่า เพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเพศชาย แต่อัตราการฆ่าตัวตายในเพศชายมีจำนวนมากกว่า นอกจากนี้เพศชายที่เกิดอาการเครียดหรือซึมเศร้าขั้นรุนแรงจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิงอีกด้วย
โดยผู้ชายหลายคนที่เผชิญกับโรคนี้เลือกที่จะไม่ยอมพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือค่านิยมของสังคมที่มักปลูกฝังว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ไม่ควรร้องไห้ หรือบ่นเรื่องปัญหาทางใจ ส่งผลให้ผู้ชายจำนวนมากเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเอง และไม่กล้าขอความช่วยเหลือแม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว
รูปแบบที่แตกต่างของภาวะซึมเศร้าในผู้ชาย
ภาวะซึมเศร้าในผู้ชายมักแสดงออกไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิง ดังต่อไปนี้
- อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย แทนที่จะรู้สึกเศร้าแบบชัดเจน
- ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์เพื่อระงับความเครียด
- หมกมุ่นกับการทำงานหรือกิจกรรมบางอย่างเกินปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรู้สึกของตนเอง
- แยกตัวจากสังคม โดยอ้างว่าแค่ต้องการเวลาอยู่คนเดียว
- มีปัญหาด้านสุขภาพกายโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย

วิธีสังเกตและช่วยเหลือผู้ชายเป็นโรคซึมเศร้า
หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า การแสดงความเข้าใจและไม่ตัดสินคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
- พูดคุยด้วยความห่วงใย ไม่กดดัน
- สนับสนุนให้ไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
- สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องความรู้สึก
- หมั่นสังเกตพฤติกรรมและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
ภาวะซึมเศร้าในผู้ชายอาจไม่ได้แสดงออกมาในรูปแบบที่เราคุ้นเคย แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ หากเรามองเห็น เข้าใจ และกล้าที่จะพูดคุย เราอาจเป็นคนสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ เพราะการเข้มแข็ง ไม่ได้หมายความว่าต้องสู้คนเดียวเสมอไป
อย่างไรก็ตาม หากใครกำลังมีปัญหาหรือรู้ตัวว่ากำลังมีภาวะซึมเศร้า อยากลองคุยกับนักจิตวิทยาหรือพบจิตแพทย์ให้เป็นเรื่องเป็นราว สามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้เลย