x close

ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชายจะสังเกตตัวเองอย่างไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน

          ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชายจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไส้เลื่อน มารู้จักสาเหตุไส้เลื่อนเกิดจากอะไร ถ้าหากเป็นแล้ว ไส้เลื่อนรักษาเองได้ไหม มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชาย

          ไส้เลื่อนเป็นโรคที่ผู้ชายหลายคนกังวลใจ เพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง โดยมักจะพบก้อนบริเวณขาหนีบ ช่องท้อง ร่วมกับอาการจุก ๆ หน่วง ๆ สร้างความรำคาญในชีวิตประจำวัน เมื่อพยายามใช้มือดันกลับก็ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและสุขภาพผู้ชาย ยิ่งหากไส้เลื่อนมีขนาดและอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้รักษาได้ยากในภายหลัง แต่ก็มีหลายครั้งที่คนเป็นไส้เลื่อนไม่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะโรคนี้อยู่ เพราะไส้เลื่อนอาการไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในทุกคน มีบางรายเท่านั้นที่รู้สึกเจ็บหรือปวด ดังนั้น ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชายเป็นอย่างไร ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร อันตรายไหม และถ้าเป็นไส้เลื่อนรักษาเองได้หรือเปล่า เรามาเรียนรู้กันเลย

ไส้เลื่อน คืออะไร เกิดจากอะไร

          ไส้เลื่อน คือ สภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้องหรือเนื้อเยื่อบางส่วนเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิม ผ่านผนังท้องที่บอบบางและอ่อนแอออกมานอกช่องท้อง จะสังเกตเห็นเป็นลักษณะก้อนตุง ๆ นูนออกมาจากท้อง โดยส่วนที่เคลื่อนตัวออกไปจะยังคงถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเดิม ไส้เลื่อนสามารถมีโอกาสเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ชายอาจมีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อนมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วน 5:1 ทั้งนี้ โรคไส้เลื่อนแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามตำแหน่งที่อวัยวะเคลื่อนไปอยู่ และตามสาเหตุการเกิด

  1. ไส้เลื่อนตรงขาหนีบ (Inguinal hernia) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 25 เท่า เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือประมาณ 75% ของไส้เลื่อนทั้งหมด โดยเฉพาะในผู้ชายวัย 40+ อาการนี้เกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด และอาการจะแสดงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน บางกรณีอาจเกิดจากการไอเรื้อรัง จากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง แต่ถ้าปล่อยไว้นานไส้เลื่อนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วไหลลงอัณฑะ หรือที่เรียกว่าไส้เลื่อนลงอัณฑะ หรือไส้เลื่อนลงไข่
  2. ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) หรือที่เรียกกันว่าสะดือจุ่น มักพบตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีโอกาสพบมากขึ้น เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ผนังหน้าท้องตรงสะดือก็จะปิดไปตั้งแต่ชั้นของผิวหนัง ชั้นของกล้ามเนื้อ และมีชั้นพังผืดเข้ามาปกคลุม แต่หากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังปิดไม่สนิท บางส่วนของลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งได้
  3. ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) เกิดจากกล้ามเนื้อและพังผืดของกระบังลมมีการหย่อนยานและเสียความยืดหยุ่น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในคนสูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงร่วมคือความดันในช่องท้องที่มากกว่าปกติ
  4. ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia) บางครั้งการผ่าตัดที่หน้าท้องเมื่อหายแล้วก็อาจจะทำให้กล้ามเนื้อและพังผืดหย่อนยานกว่าปกติ ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวมาตุงบริเวณนั้นได้ แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นในอัตราที่ไม่มากนัก ประมาณ 2-10% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดภายในช่องท้อง
          อย่างไรก็ตาม ไส้เลื่อนไม่ได้พบเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้ายิมออกกำลังกายหนัก ๆ ยกน้ำหนัก ทุ่มน้ำหนัก ที่ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง อาจทำให้แรงดันบริเวณขาหนีบเพิ่มขึ้น ผู้ชายสายสตรองจึงพบกับปัญหาไส้เลื่อนได้เช่นเดียวกัน
ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชาย

ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชายต้องสังเกตตัวเอง

          แม้ว่าบางรายจะไม่แสดงอาการเมื่อมีภาวะไส้เลื่อน แต่หากเราลองสังเกตตัวเองให้ดี แล้วพบว่ากำลังมีอาการเหล่านี้ร่วมอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายและหาสาเหตุของอาการเหล่านี้
  • รู้สึกมีก้อนนูนออกมาจากภายในร่างกายบริเวณช่องท้อง และถ้านอนลงจะสามารถดันให้กลับเข้าไปในช่องท้องได้
  • รู้สึกปวดบริเวณก้อน โดยเฉพาะขณะก้มตัว ยกสิ่งของ ไอหรือจาม
  • มีอาการอัณฑะบวมและปวด
  • รู้สึกแน่นท้องและปวดแสบปวดร้อนบริเวณช่องท้อง
  • มีอาการท้องผูก มีเลือดปนในอุจจาระ
  • หากเป็นไส้เลื่อนบริเวณกระบังลมอาจจะทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ด้วย

          สำหรับอาการที่ผู้ป่วยไส้เลื่อนต้องมาพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
  • ไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
  • ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชาย

ไส้เลื่อนรักษาเองได้ไหม ?

          สำหรับไส้เลื่อนที่มีขนาดเล็กและยังไม่มีอาการใด ๆ อาจจะยังไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่คอยสังเกตอาการ หรือหากไส้เลื่อนที่คุณเป็นยังสามารถเลื่อนเข้า-ออกได้ นอนลงแล้วยุบลง หรือเอามือดันแล้วยุบกลับเข้าไป ก็ยังถือว่าไม่อันตราย บางคนอาจซื้อกางเกงชั้นในแบบพิเศษมาใส่เพื่อพยุงไส้เลื่อนไว้ แต่นั่นเป็นแค่การประคองอาการชั่วคราวเท่านั้น เพราะต้องทำความเข้าใจกันตรงนี้ว่าไส้เลื่อนไม่สามารถหายขาดได้เอง ต้องผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนมีวิธีการอยู่ 2 แบบ คือ
  1. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง ทำโดยปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดีคือ สามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถดมยาหรือบล็อกหลังได้
  2. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) แพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รู บริเวณผนังหน้าท้อง เพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออกด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาด 5-10 มิลลิเมตร เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว

ไส้เลื่อนป้องกันได้

          เราสามารถป้องกันไส้เลื่อนให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากผ่าตัดไปแล้ว โดยวิธีการดังนี้
  • เลี่ยงยกของหนัก เพราะทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูง หากต้องยกให้ย่อเข่าแล้วยกขึ้น ไม่ก้มตัวยก
  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เพื่อป้องกันท้องผูกและการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะจนติดเป็นนิสัย
  • งดเบ่งปัสสาวะ โดยเฉพาะในคนที่เป็นต่อมลูกหมากโตต้องรักษาให้หาย ถ่ายปัสสาวะได้คล่อง
  • เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการไอ อย่างการสูบบุหรี่ โรคหวัด
  • ถ้าไอควรจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ และหากมีอาการไอเรื้อรังต้องรักษาให้หายขาด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
          ไส้เลื่อนแม้จะเป็นภาวะที่ไม่อันตราย แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลให้ลำไส้ทะลักออกมามากขึ้นจนผนังของช่องท้องเกิดการรัดตัว ทำให้ลำไส้ขาดเลือด ซึ่งในกรณีนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน เพราะหากผ่าไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ หากสังเกตพบอาการแรกเริ่มแล้วก็ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็กและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า

บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : rama.mahidol.ac.th, bumrungrad.com, bangpakok3.com, paolohospital.com, bangkokhospital.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไส้เลื่อนอาการ ผู้ชายจะสังเกตตัวเองอย่างไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2566 เวลา 15:54:18 15,054 อ่าน
TOP