วิธีเลือกเมนบอร์ดคอมพิวเตอร์สำหรับมือใหม่ ต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาแนะนำให้ทราบกัน
สำหรับใครที่จะประกอบคอมพิวเตอร์ใหม่สักเครื่อง ส่วนประกอบหลักที่จำเป็นจะต้องเลือกซื้อให้ดีเลยก็คือเมนบอร์ด เพราะจำเป็นต้องเลือกรุ่นที่สามารถรองรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราจะนำมาประกอบได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นซีพียู แรม SSD และอื่น ๆ ซึ่งหลักในการเลือกซื้อเมนบอร์ดนั้น จะต้องพิจารณาดูหลายอย่าง โดยในวันนี้เราจะมาช่วยแนะนำเบื้องต้นกัน
วิธีเลือกซื้อเมนบอร์ด
การพิจารณาเลือกเมนบอร์ด มีรายละเอียดเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก แต่สำหรับมือใหม่ที่ต้องการจะเริ่มลองเลือกซื้อเมนบอร์ดด้วยตัวเอง เรามีสิ่งที่ควรพิจารณาเบื้องต้นมาแนะนำดังต่อไปนี้
1. ขนาดของเมนบอร์ด (Form Factor)
เมนบอร์ดมีอยู่หลายประเภทหลายขนาด โดยที่แพร่หลายสุดจะเป็นเมนบอร์ด ATX, Micro-ATX และ Mini-ITX เรียงลำดับจากใหญ่สุดไปเล็กสุด ต้องเลือกซื้อขนาดเมนบอร์ดให้พอดีกับเคส ซึ่ง ATX จะเป็นขนาดที่ใหญ่มากที่สุด มีพอร์ตและช่องต่ออุปกรณ์เยอะสุด แต่ถ้าหากเลือกใช้เมนบอร์ดที่มีขนาดเล็กจะทำให้เคสมีขนาดเล็กลงตามไปด้วย ช่วยประหยัดพื้นที่บนโต๊ะ โดยอาจถูกตัดพอร์ตและช่องเสียบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นน้อยออกไป และอัปเกรดได้ไม่สะดวกเท่าเมนบอร์ดขนาดปกติ
2. Socket ต้องตรงกับซีพียู
ซีพียูแต่ละรุ่นจะใช้ Socket ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ซีพียู Intel Gen-9 ใช้ Socket LGA 1151v2 ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดที่มี Socket LGA 1151v2 เหมือนกัน หรือถ้าเป็นซีพียู AMD ตระกูล Ryzen หลาย ๆ รุ่นที่ใช้ Socket AM4 ก็จำเป็นต้องซื้อเมนบอร์ดแบบ AM4 ด้วย เพราะถ้าหาก Socket ไม่ตรงกันก็จะไม่สามารถใช้งานได้เลย
3. การรองรับแรมและจำนวนช่องใส่แรม
ในสเปกของเมนบอร์ดจะมีระบุไว้ว่ารองรับแรมรุ่นใดที่ความเร็วบัสเท่าไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น 2x DIMM DDR4 2666/2400/2133 ก็หมายความว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้รองรับแรมที่เป็นแบบ DDR4 ความเร็วบัส 2666MHz, 2400MHz และ 2133MHz ส่วน 2x DIMM จะหมายถึงมีช่องใส่แรมให้ทั้งหมด 2 ช่อง (DIMM เป็นอีกหนึ่งชื่อเรียกของแรม) ซึ่งถ้าหากต้องการเผื่อใส่แรมอัปเกรดเพิ่มในอนาคตก็อาจเลือกเมนบอร์ดที่มีช่องใส่แรมให้ 4 ช่อง นอกจากนี้เมนบอร์ดแต่ละรุ่นก็จะมีบอกไว้ด้วยว่าสามารถใส่แรมได้รวมสูงสุดไม่เกินกี่ GB
4. ช่อง M.2 NVMe
เมนบอร์ดที่มีช่อง M.2 NVMe จะสามารถใส่ SSD แบบ M.2 NVMe ได้ ซึ่งจะมีความเร็วที่สูงกว่า SSD ที่เป็นแบบ SATA โดยในเมนบอร์ดบางรุ่นอาจมีให้มากกว่า 1 ช่องด้วย แต่ถ้าหากเป็นรุ่นประหยัดก็อาจจะใส่เพียงแค่ SSD แบบ SATA กับฮาร์ดดิสก์ทั่วไปเท่านั้น
5. พอร์ตต่าง ๆ
สำหรับพอร์ตนั้น หลัก ๆ ก็จะมี USB ซึ่งอาจมีมาให้ 4-6 ช่อง หรือมากกว่าขึ้นอยู่รุ่นของเมนบอร์ด โดยจะแบ่งออกเป็น Gen ต่าง ๆ เช่น USB 3.1 จะมีความเร็วสูงกว่า USB 2.0 หรือถ้าเป็นรุ่นใหม่ ๆ ก็อาจมี USB Type-C ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีช่อง 3.5 มม. สำหรับต่อหูฟัง ลำโพง หรือไมโครโฟน ส่วนพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อจอภาพอย่าง VGA, DVI, HDMI หรือ DisplayPort นั้น จะจำเป็นสำหรับผู้ที่ไม่ได้ซื้อการ์ดจอแยกแต่ใช้ชิปกราฟิกร่วมกับซีพียู
6. ฟังก์ชั่นอื่น ๆ ของเมนบอร์ด
เมนบอร์ดแต่ละรุ่นจะมีฟังก์ชั่นเสริมที่แตกต่างกันไป ยิ่งรุ่นระดับสูงก็จะยิ่งมีฟังก์ชั่นให้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการรองรับ Wi-Fi, สามารถ Overclock ได้, รองรับเทคโนโลยีหน่วยความจำแบบ Optane, มีพอร์ตเพิ่มเติม, ลูกเล่นการ Sync ไฟ RGB และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งนี้ นอกจากจะพิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ ดังที่เราได้กล่าวไปแล้ว ก็ต้องไม่ลืมเรื่องราคาให้อยู่ในงบที่ตั้งไว้ด้วย และถ้าหากไม่มั่นใจก็ควรสอบถามหรือปรึกษาร้านตัวแทนจำหน่ายก่อนตัดสินใจซื้ออีกครั้ง