ค่า BMI หรือดรรชนีมวลกาย คืออะไร ผู้ชายควรให้ความสำคัญกับค่า BMI มากแค่ไหน น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานถือว่าเป็นโรคอ้วนจริงหรือ จำเป็นต้องลดน้ำหนักหรือไม่ มาหาคำตอบกัน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า BMI หรือดรรชนีมวลกาย กันมาบ้างแล้ว โดยค่า BMI นี้เป็นค่าที่จะบ่งบอกความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งสามารถคำนวณได้ด้วยการนำค่าของน้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม มาหารด้วยส่วนสูง หน่วยเป็นเมตร ยกกำลัง 2 ยกตัวอย่างเช่น คนน้ำหนัก 65 กก. ส่วนสูง 170 ซม. ก็ให้นำ 1.7 ไปคูณกับ 1.7 ก็จะได้ 2.89 จากนั้นให้นำน้ำหนัก 65 ไปหารกับ 2.89 ก็จะได้ออกมาเป็นค่า BMI เท่ากับ 22.49 นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วค่า BMI ที่ได้มาตรฐานจะอยู่ในช่วง 18.5-22.90 ถ้าน้อยกว่านี้จะถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ถ้ามากกว่านี้ก็จะถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน และถ้ามีค่า BMI สูงกว่า 25 ขึ้นไป ก็จะถือว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจไม่สามารถตัดสินว่าสุขภาพดีหรือไม่โดยวัดจากค่า BMI เพียงอย่างเดียวได้เสมอไป เพราะในบางคนถึงแม้จะมีค่า BMI สูงกว่ามาตรฐาน แต่อาจมีสุขภาพแข็งแรงกว่าคนที่มีค่า BMI ตามมาตรฐานก็ได้
เพราะฉะนั้นการจะชี้วัดว่าแต่ละคนมีสุขภาพที่ดีหรือไม่นั้น นอกจากค่า BMI แล้วก็จะต้องดูจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ขนาดของรอบเอว โดยผู้ชายทั่วไปควรมีขนาดรอบเอวไม่เกิน 40 นิ้ว นอกจากนี้ผู้ที่มีค่า BMI เกินกว่ามาตรฐานและมีรูปร่างอ้วนท้วน คนที่มีลักษณะอ้วนลงพุงก็จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากกว่าคนที่ไม่ลงพุง
ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ว่า ค่าดรรชนีมวลกายหรือ BMI สามารถใช้ชี้วัดความเหมาะสมระหว่างน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงได้ในระดับหนึ่งสำหรับกรณีคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่เป็นนักกีฬา คนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกล้ามเป็นประจำ การดูเพียงค่า BMI อย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอ ควรจะพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขนาดของรอบเอว เป็นต้น