x close

6 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับระบบออโต้โฟกัสที่ช่างภาพมือใหม่ควรรู้

ระบบออโต้โฟกัส

          รวมทิปส์น่ารู้ของระบบออโต้โฟกัส (Autofocus) ในกล้องถ่ายรูป ที่คนรักการถ่ายภาพบางคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน

          คนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ ระบบออโต้โฟกัส ของกล้องถ่ายรูปมาบ้างไม่มากก็น้อย ทว่าก็ยังมีคนที่ไม่แน่ใจว่าเจ้าระบบที่ว่านี้มีประโยชน์ต่อการถ่ายภาพอย่างไร วันนี้เราจึงหยิบเรื่องน่ารู้ของระบบออโต้โฟกัสจากเว็บไซต์ photoventure มาแนะนำกันแล้วครับ

          กล้องจะจับโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้จุดกึ่งกลางของภาพที่สุดเป็นอันดับแรก

          คนที่หัดถ่ายภาพใหม่ ๆ อาจยังไม่คุ้นเคยกับการทำงานของกล้องเท่าไร จึงเลือกเปิดใช้งานระบบออโต้โฟกัส ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากเลยทีเดียว เพราะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่คมชัดอย่างที่ต้องการ ทว่าเมื่อเปิดใช้งานระบบดังกล่าวแล้ว กล้องจะจับโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้จุดกึ่งกลางของภาพอยู่เสมอ ซึ่งอาจไม่ใช่จุดที่ต้องการโฟกัสก็เป็นได้ ฉะนั้นควรตั้งค่ากล้องใหม่ เพื่อเลือกจุดโฟกัสเอง เพราะจะช่วยให้เก็บภาพสวย ๆ ได้โดยไม่หลุดโฟกัส นอกจากนี้ ถ้ากล้องของคุณมีระบบตรวจจับใบหน้า ก็ให้ปิดเสียก่อน เพราะกล้องจะโฟกัสแต่หน้าคนเสมอ

ระบบออโต้โฟกัส
ภาพจาก nikon

          ระบบออโต้โฟกัสที่รวดเร็วไม่ใช่คำตอบที่ดีเสมอไป

          ในการถ่ายภาพบางครั้ง การใช้ระบบออโต้โฟกัสความเร็วสูง ก็ไม่ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัด เนื่องจากกล้องจะจับจุดโฟกัสที่ชัดเจนและใกล้เคียงที่สุด ส่งผลให้ภาพหลุดโฟกัสบ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุผลให้กล้องตัวท็อปหลายรุ่นสามารถปรับความเร็วของระบบออโต้โฟกัสให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพแต่ละชอตได้นั่นเอง

          รูรับแสงมีส่วนสำคัญต่อระบบออโต้โฟกัส

          รูรับแสงในที่นี้หมายถึงรูรับแสงของเลนส์กล้องถ่ายรูป ซึ่งเลนส์แต่ละชนิดจะมาพร้อมกับค่าที่แตกต่างกัน เช่น เลนส์ฟิกซ์ มีค่ารูรับแสงที่ f/1.4 หรือ f/.1.8 ส่วนเลนส์ซูมจะมีรูรับแสงอยู่ที่ f/3.5-5.6 เป็นต้น โดยระบบออโต้โฟกัสจะทำงานได้มีประสิทธิภาพเมื่อรูรับแสงเปิดกว้าง ในทางตรงกันข้าม ถ้าปรับรูรับแสงแคบ ๆ การโฟกัสก็จะช้าลงตามไปด้วย

ระบบออโต้โฟกัส
ภาพจาก photographylife

          ประเภทของระบบออโต้โฟกัส

          กล้อง DSLR หลายรุ่นในปัจจุบัน จะมาพร้อมกับระบบออโต้โฟกัสแบบ Phase Detection โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การโฟกัสวัตถุในแนวเส้นตรงที่เรียกว่า Linear ขณะที่การโฟกัสอีกแบบเรียกว่า Cross-Type จะจับวัตถุได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนได้หลายจุดพร้อมกันตามที่ระบุในสเปคของกล้อง ซึ่งจะช่วยโฟกัสวัตถุในภาพได้แม่นยำขึ้น

          ระบบวัดแสงของกล้องกับจุดโฟกัสภาพมีความสัมพันธ์กัน

          หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าระบบวัดแสงของกล้องทำงานร่วมกับจุดโฟกัส เพื่อช่วยเก็บแสงในภาพให้ออกมาสวยงาม โดยจุดโฟกัสจะจับวัตถุที่มีความสว่างในภาพมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อการชดเชยแสงของภาพ ถ้าหากมีแสงสว่างมากหรือน้อยเกินไป ให้ปรับค่าชดเชยแสงแบบแมนวล ก็จะช่วยให้คุณได้ภาพถ่ายที่มีแสงสมดุลแล้ว

ระบบออโต้โฟกัส
ภาพจาก Sony India

           ระบบออโต้โฟกัสแบบ Contrast Detection

          เมื่อเปิดใช้งานระบบออโต้โฟกัสแบบ Contrast Detection กล้องจะสั่งให้เลนส์หาวัตถุที่ชัดเจนที่สุดเพื่อจับโฟกัส ซึ่งการใช้งานระบบนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาณรบกวน (Noise) ด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะหากมีสัญญาณรบกวนมากไป ก็จะใช้เวลาในการโฟกัสวัตถุนานกว่าเดิม

          เป็นอย่างไรบ้างกับเรื่องราวที่น่าสนใจของระบบออโต้โฟกัสที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน ๆ ในการถ่ายรูปไม่มากก็น้อยครับ

ภาพจาก photographylife

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับระบบออโต้โฟกัสที่ช่างภาพมือใหม่ควรรู้ อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2558 เวลา 11:51:21 16,398 อ่าน
TOP