
สำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ น่าจะรู้ดีว่า นอกจากตัวกล้องที่เป็นเครื่องมือหลักในการใช้ถ่ายภาพแล้ว เลนส์กล้อง คืออุปกรณ์เสริมที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ภาพจะสวยไม่สวย หากไม่นับเรื่องฝีมือการถ่าย เลนส์นี่แหละจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ ดังนั้นวันนี้เราจึงได้หยิบเอาประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของเลนส์กล้องทั้งหมด 11 รุ่นจากเว็บไซต์ petapixel มาฝากกันครับ


สำหรับเลนส์ซีรีส์ Petzval ของแบรนด์ Lomography เป็นเลนส์ที่เน้นการถ่ายภาพแนวพอร์เทรต เพราะไม่เพียงแค่ทำให้ภาพคมชัดเท่านั้น แต่ยังสร้างโบเก้ได้สวยงามเป็นเอกลักษณ์อีกต่างหาก แถมทางแบรนด์ได้พัฒนาความสามารถของเลนส์ จนออกมาเป็นเลนส์ Petzval 58 ที่ช่างภาพสามารถปรับขนาดของโบเก้ได้ด้วย นอกจากนี้ เลนส์ดังกล่าวยังมีต้นแบบมาจากเลนส์สุดคลาสสิกที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1840 โดย โจเซฟ เพ็ตซ์วาล (Joseph Petzval) นักประดิษฐ์ชาวฮังการีนั่นเองครับ


เลนส์ฟิชอายในตำนานของ Nikon ที่เปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อปี ค.ศ. 1972 มาพร้อมกับระยะ 6 มิลลิเมตร รูรับแสงกว้าง f/2.8 ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 12 ชิ้นจัดเป็น 9 กลุ่ม โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การเก็บภาพมุมกว้าง ที่สามารถเก็บได้มากถึง 220 องศาเลยทีเดียว ทั้งยังเป็นเลนส์ที่หายากมาก ๆ เพราะทางแบรนด์จะผลิตตามออร์เดอร์เท่านั้น


นับว่าเลนส์ตัวนี้จาก Carl Zeiss เป็นหนึ่งในเลนส์ที่ทำงานได้เร็วที่สุด แถมมีรูรับแสงที่กว้างถึง f/0.7 ช่วยให้เก็บภาพในที่แสงน้อยได้ดีมาก โดยเลนส์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1966 เพียง 10 ชุดเท่านั้น ซึ่งทางบริษัทเก็บไว้เอง 1 ชุด ขายให้กับ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวสหรัฐฯ ไป 3 ชุด และอีก 6 ชุดอยู่ที่ NASA โดยทางนาซาได้ใช้เลนส์ดังกล่าวถ่ายภาพดวงจันทร์ไว้ด้วย


เมื่อปี ค.ศ. 2006 ทาง Carl Zeiss เปิดตัว Apo Sonnar T* 1700มม f/4 เลนส์ซูเปอร์เทเลครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งสร้างขึ้นตามการสั่งซื้อของผู้ไม่ประสงค์ออกนามจากประเทศกาตาร์ โดยตัวเลนส์ประกอบด้วย 15 ชิ้นเลนส์ใน 13 กลุ่ม ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับกล้องมีเดียมฟอร์แมต อีกทั้งยังมีน้ำหนักมากถึง 256 กิโลกรัมเลยทีเดียว


Sigma 200-500มม. f/2.8 เป็นเลนส์เทเลที่ทำความเร็วในการจับภาพการแข่งขันกีฬาได้ไวมาก ๆ ทำให้เก็บภาพเคลื่อนไหวได้คมชัด โดยตัวเลนส์ผลิตจากแก้วชนิดพิเศษ ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ออกมาสวยงามดูเป็นธรรมชาติ มีโครงสร้างเลนส์เป็น 17 ชิ้นเลนส์ใน 13 กลุ่ม และใบมีดรับแสง 9 ใบ รวมถึงมีตัว Teleconverter ที่ช่วยเพิ่มระยะซูมได้ไกลกว่าเดิมถึง 2 เท่า


เห็นแวบแรกบางคนอาจคิดว่านี่คือปืนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วมันคือเลนส์กล้องต่างหาก ซึ่งนอกจากลักษณะภายนอกจะทำให้คนคิดว่านี่ไม่ใช่เลนส์กล้องธรรมดาแล้ว ขนาดของเลนส์ตัวนี้ยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีน้ำหนักอยู่ที่ 100 กิโลกรัม แล้วด้วยระยะโฟกัสที่ 5200 มิลลิเมตร จึงทำให้เลนส์ตัวนี้สามารถเก็บภาพได้ไกลสุดถึง 51.5 กิโลเมตร ซึ่งทาง Canon ได้สร้างเลนส์รุ่นนี้ขึ้นมาเพียง 3 ตัวเท่านั้น


นอกจากจะมีดีไซน์ที่ดูหรูหราแล้ว เลนส์รุ่นนี้ของ Leica ยังทำงานได้รวดเร็วมาก และทางแบรนด์ยังอ้างว่าเลนส์ดังกล่าวสามารถเก็บภาพได้คมชัดเหมือนจริงในระดับเดียวกับสายตามนุษย์เลยทีเดียว !! แล้วด้วยขนาดของรูรับแสงที่กว้างถึง f/.0.95 จึงช่วยให้ถ่ายภาพในที่ที่แสงน้อยออกมาได้สวยเนียนตามาก ๆ เลยล่ะ


Meyer Optik ผู้ผลิตเลนส์จากประเทศเยอรมนี นำเลนส์รุ่นเก่าที่ถูกผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1916 มาพัฒนาใหม่ จนออกมาเป็นเลนส์ Trioplan 100มม. f/2.8 ที่ถ่ายภาพได้คมชัดมาก ๆ และสร้างโบเก้ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายฟองสบู่ รองรับการใช้งานร่วมกับกล้อง DSLR และกล้องฟูลเฟรมด้วย


Lensbaby นับว่าเป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตเลนส์แนวพอร์เทรตที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มาพร้อมกับระยะโฟกัส 50 มิลลิเมตร รูรับแสงกว้าง f/2.8 ตัวเลนส์ผลิตจากวัสดุคุณภาพเยี่ยม และมีคุณสมบัติปรับหน้าเลนส์ได้ 17.5 องศา ช่วยให้เก็บภาพมุมต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม


เลนส์ตัวนี้ถูกใช้งานครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี ค.ศ. 1984 ที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโครงสร้างเลนส์ประกอบด้วยชิ้นกระจกเลนส์ 13 ชิ้นใน 10 กลุ่ม และมีใบมีดรับแสง 8 ใบ สามารถจับโฟกัสภาพได้ใกล้สุดที่ระยะ 14 เมตร


ในปี ค.ศ. 2006 เจ้าชายแห่งกาตาร์ได้ทุ่มเงินมากกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 67 ล้านบาท) เพื่อครอบครองเลนส์ซูเปอร์เทเลรุ่นนี้ของ Leica ที่ถูกผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1923 เพียง 2 ตัวในโลกเท่านั้น
เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้ว ต้องบอกเลยว่าเลนส์แต่ละรุ่นล้วนมีความน่าสนใจและคุณสมบัติที่น่าหามาใช้ถ่ายรูปมาก ๆ เลยทีเดียว เอาเป็นว่าใครมีโอกาสได้สัมผัสเลนส์ตัวไหน ก็อย่าลืมเก็บภาพสวย ๆ มาฝากกันด้วยนะครับ
ภาพจาก lomography.com, nikonrumors.com, dpreview.com, sigmaphoto.com, ovcharski.com, leica-camera.com, bhphotovideo.com, megapixel.co.il, lensbaby.com