กลุ่มนักเรียนอังกฤษอายุ 13-14 ปี คิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ถุงยางอนามัยเปลี่ยนสีได้ เมื่อสัมผัสเชื้อโรคติดต่อทางเพศ หวังลดการติดด่อ ให้คนมีความรับผิดชอบ ตัดสินใจรอบคอบขึ้นก่อนมีเพศสัมพันธ์
วันที่ 24 มิถุนายน 2558 เว็บไซต์เมโทร มีรายงานว่า กลุ่มนักเรียนชายอายุ 13-14 ปี สามคนจากสถาบันไอแซค นิวตัน อคาเดมี ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ชนะเลิศการประกวดรางวัล TeenTech Awards ด้วยคอนเซ็ปต์การผลิตถุงยางอนามัยที่สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อสัมผัสกับเชื้อที่นำโรคติดต่อทางเพศ
คอนเซ็ปต์ที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้นำเสนอคือ ผลิตถุงยางที่ฝังโมเลกุลซึ่งจะเปลี่ยนสีเมื่อสัมผัสกับเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค โดยจะเปลี่ยนสีต่าง ๆ กันไปขึ้นอยู่กับเชื้อโรคแต่ละชนิด เช่น เชื้อหนองในเทียม เปลี่ยนเป็นสีเขียว, เชื้อเริม เปลี่ยนเป็นสีเหลือง, เชื้อที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ เปลี่ยนเป็นสีม่วง, เชื้อโรคซิฟิลิส เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เป็นต้น
อัส ดานยาล สมาชิกวัย 14 ปีของกลุ่ม ระบุว่า พวกเขาต้องการให้การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำได้อย่างปลอดภัยกว่าแต่ก่อน ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะรู้ตัวเองทันทีโดยไม่ต้องรอกระบวนการทางการแพทย์ และคิดว่าจะยังทำให้ผู้คนมีสติยับยั้งชั่งใจ มีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามถุงยางอนามัยเปลี่ยนสีเมื่อพบโรคนี้ยังเป็นเพียงแค่คอนเซ็ปต์เท่านั้น ไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายจริง แต่ก็นับว่าเป็นไอเดียที่เปิดประตูสู่โลกของการมีเพศสัมพันธ์ที่มีสติและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โฆษกจาก TeenTech ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า นี่เป็นคำบอกใบ้ว่าถึงคุณสมบัติของถุงยางอนามัยในอนาคต นอกจากนี้แต่ละไอเดียที่ได้ส่งเข้ามาร่วมประกวด บอกให้เรารู้ว่าเด็ก ๆ ได้เขียนความเป็นไปของโลกในอนาคตของพวกเขาไว้อย่างไร โดยในการประกวดครั้งนี้ ยังมีการเสนอคอนเซ็ปต์ของ กิ๊บติดผมฝัง Wi-Fi ที่เปลี่ยนสีได้ตามสีสันเสื้อผ้า, กำไลข้อมือสำหรับผู้ป่วยลมชัก ที่จะส่งสัญญาณฉุกเฉินไปยังหน่วยพยาบาลทันทีหากอาการกำเริบ โดยตรวจวัดจากอัตราการเต้นของชีพจร เป็นต้น
ทั้งนี้ การประกวดรางวัล TeenTech เป็นการมอบรางวัลแก่ไอเดียดีเด่นจากเด็กในวัย 11-16 ปี นอกจากกระตุ้นหัวคิดทางด้านนวัตกรรมเพื่อนาคตแล้ว ยังช่วยให้เด็กเหล่านี้พอจะมองเห็นแนวทางอาชีพในอนาคต ในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีด้วย
ภาพจาก TeenTech Awards , ทวิตเตอร์ @teentechevent