8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกล้อง Mirrorless ที่ช่างภาพควรทราบ

กล้องมิร์เรอร์เลส
ภาพจาก sony

          เกร็ดความรู้เล็ก ๆ ที่มือใหม่หัดเล่นกล้องมิร์เรอร์เลส (Mirrorless) ควรทราบก่อนตัดสินใจซื้อ จะได้เลือกกล้องเลือกรุ่นที่ถูกใจที่สุดไว้ใช้งาน

         ต้องใช้ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์

          เนื่องจากไม่มีกระจกสะท้อนภาพอย่างกล้อง DSLR ซึ่งเป็นที่มีของชื่อ Mirrorless ดังนั้นผู้ใช้กล้องชนิดนี้จะต้องพึ่งพาช่องมองภาพ ซึ่งสำหรับนักถ่ายภาพบางคนนี่คือสิ่งที่รับไม่ได้ อย่างไรก็ตามด้วยการรีเฟรชภาพในช่องมองอิเล็กทรอนิกส์ที่รวดเร็วเพื่อให้มีความราบเรียบในการดูภาพ อัตราขยายที่สูง และความละเอียดของช่องมองภาพที่มากจนอาจสูงกว่าจอ LCD ด้านหลังที่มีขนาดใหญ่กว่าถึง 2 เท่าในกล้องบางรุ่นได้ ทำให้ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ OLED หรือ LCD สามารถแสดงภาพได้สมจริงในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของนักถ่ายภาพจำนวนมาก นอกจากนี้ในช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถแสดงตัวช่วยต่าง ๆ เช่น Histogram และเส้นไกด์สำหรับจัดองค์ประกอบภาพได้ขณะกำลังถ่ายภาพ รวมถึงนักถ่ายภาพยังสามารถเข้าถึงการปรับตั้งต่าง ๆ ในเมนูได้โดยไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพ

         เสียงจากกล้อง

          เสียงที่ดังจนเป็นเอกลักษณ์ของกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวขณะบันทึกภาพส่วนใหญ่มาจากการกระดกของกระจกสะท้อนภาพ ซึ่งผู้ผลิตกล้อง DSLR ได้พยายามอย่างมากเพื่อที่จะลดเสียงที่เกิดขณะบันทึกภาพให้เบาลง โดยการกำจัดกระจกสะท้อนภาพออกไปจากกล้องเป็นวิธีหนึ่ง และด้วยกล้อง Mirrorless บางรุ่นในปัจจุบันที่สามารถเลือกไม่ใช้ชัดเตอร์เมคานิคได้อย่างสิ้นเชิง โดยใช้เซ็นเซอร์ภาพในการควบคุมเวลาบันทึกภาพแทนจึงทำให้กล้องเหล่านี้เกือบจะไม่มีเสียงเมื่อบันทึกภาพ ซึ่งการทำงานนี้อาจไม่เหมาะเมื่อถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนที่รวดเร็ว แต่จะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพได้ในสถานที่ที่ต้องการความเงียบหรือในบางสถานการ

กล้องมิร์เรอร์เลส

         มี Wi-Fi

          การเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi ในตัวกล้องไม่ได้มีเฉพาะในกล้อง Mirrorless เท่านั้นเพราะกล้อง DSLR รุ่นใหม่ ๆ ก็มีการทำงานนี้ประกอบอยู่ด้วย หรือหากไม่มี Wi-Fi ในตัวกล้องนักถ่ายภาพก็สามารถเพิ่มการทำงานในการถ่ายโอนภาพได้ด้วยการ์ด Eye-Fi หรืออุปกรณ์เสริมจากผู้ผลิตกล้องอย่างเช่น อแดปเตอร์ WU-Ta ของ Nikon แต่อย่างไรก็ตามการที่มี Wi-Fi ในตัวกล้อง ไม่ใช่เพียงแต่สามารถถ่ายโอนภาพได้เท่านั้น เพราะยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก ซึ่งช่วยเพิ่มความสะอาดในการปรับควบคุมกล้อง จึงเป็นประโยชน์สำหรับนักถ่ายภาพทั่วไปจากระยะไกลด้วยสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งในกล้อง Mirrorless ของ Olympus และ Panasonic จะช่วยให้สามารถปรับตั้งได้เกือบทุกเมนูในกล้องจากระยะไกล

         มีออฟติคที่หลากหลายให้เลือก

          หากไม่คิดที่จะเปลี่ยนเลนส์ ควรมองกล้องคอมแพกต์ดิจิตอลซูเปอร์ซูมเป็นทางเลือก เพราะหนึ่งในจุดเด่นของกล้อง Mirrorless ก็คือนักถ่ายภาพสามารถเปลี่ยนจากเลนส์ซูมอเนกประสงค์สำหรับถ่ายภาพทั่วไปมาเป็นเลนส์เพื่อถ่ายภาพมาโครโดยเฉพาะได้ หรือเพิ่มความท้าทายให้แก่ตนเองด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยว เพื่อที่จะฝึกทักษะในการถ่ายภาพให้มากขึ้น นอกจากนี้ด้วยอแดปเตอร์นักถ่ายภาพยังสามารถนำเลนส์จำนวนมากมาใช้ร่วมกับกล้องได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่สร้างความเฟื่องฟูให้แก่การถ่ายภาพ 35 มม. ในอดีต

กล้องมิร์เรอร์เลส
ภาพจาก leicarumors

         อาจต้องพึ่งจอทัชสกรีน

          ในปัจจุบันจะพบจอ LCD ด้านหลังกล้องแบบทัชสกรีนได้ทั้งในกล้อง DSLR และ Mirrorless แต่กับกล้อง Mirrorless รุ่นที่มีขนาดเล็กมากอย่าง Panasonic GM1 และ Samsung NX Mini จะมีพื้นที่น้อยมากบนตัวกล้องสำหรับปุ่มปรับตั้งจริง ๆ จนทำให้นักถ่ายภาพปรับควบคุมการทำงานหลักต่าง ๆ ของกล้องได้สะดวกกว่าด้วยการแตะจอแบบทัชสกรีน ซึ่งผู้ที่ขยับจากการใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพมาเป็นกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้เป็นครั้งแรกอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่กับนักถ่ายภาพที่ใช้กล้อง DSLR มาก่อนอาจจะรู้สึกติดขัดเล็กน้อยและเหมือนบางสิ่งหายไปเมื่อใช้ในครั้งแรก

         ระบบออโต้โฟกัสที่พัฒนาขึ้น

          ในยุคเริ่มต้นกล้อง Mirrorless มาพร้อมกับเทคโนโลยีออโต้โฟกัสที่หาโฟกัสด้วยคอนทราสต์ เนื่องจากระบบออโต้โฟกัสแบบ Phase Detection ที่ใช้ในกล้อง DSLR ไม่สามารถใช้ได้ในกล้องที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพ ทำให้ต้องพึ่งพาเฉพาะการทำงานออโตโฟกัส Contrast Detection เท่านั้น จึงทำให้กล้อง Mirrorless ในยุคแรกหาโฟกัสช้ากว่ากล้อง DSLR อย่างสังเกตได้ แต่ด้วยการพัฒนาระบบโฟกัสแบบ Contrast Detection และใส่เซ็นเซอร์ Phase Detection ไว้ในเซ็นเซอร์ภาพ จึงทำให้ระบบออโต้แม็กกล้อง Mirrorless ตามกล้อง DSLR ทัน และแม้กล้อง Mirrorless จะยังคงโฟกัสช้าในสภาพแสงน้อย แต่ในสภาพแสงมากจะไม่พบความแตกต่างของการโฟกัสด้วยกล้อง Mirrorless และ DSLR

กล้องมิร์เรอร์เลส
ภาพจาก panasonic

          หลากหลายขนาดเซ็นเซอร์ให้เลือก

          ในอดีตกล้อง Mirrorless ส่วนใหญ่จะใช้เซ็นเซอร์ภาพขนาด FourThirds หรือ APS-C แต่ปัจจุบันขนาดของเซ็นเซอร์ภาพในกล้อง Mirrorless มากขึ้นใน 2 ทางจากขนาดเดิมด้วยการเปิดตัวกล้องซีรี่ย์ A7 ของ Sony เมื่อปีที่แล้วทำให้กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ขนาดเล็กในรูปแบบที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพมีทางเลือกของเซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรมให้เลือก ซึ่งนักถ่ายภาพรู้ว่าขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้สามารถควบคุมสัญญาณรบกวนที่ความไวแสงสูงได้ดีขึ้น ขณะที่จำนวนพิกเซลที่มากจะช่วยในการแสดงรายละเอียดของภาพ นอกจากนี้ยังสามารถจำกัดระยะชัดจากจุดโฟกัสได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ผู้กำลังคิดจะซื้อกล้อง Mirrorless ควรพิจารณาก็คือ หากไม่คิดที่จะพรินท์ภาพขนาดใหญ่กว่ากระดาษจดหมาย ก็แทบไม่ต้องการเซ็นเซอร์ภาพขนาดใหญ่กว่า 1/1.7 นิ้วที่มีอยู่ใน Pentax ซีรี่ส์ Q รุ่นล่าสุด

          8. ความกะทัดรัด

          หนึ่งในเหตุผลหลักที่ผู้ผลิตกล้องระบุในการนำกระจกสะท้อนภาพออกไปจากกล้องก็คือ เพื่อลดขนาดของตัวกล้องลงโดยที่ยังคงสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ซึ่งหากมองดูที่ขนาดตัวกล้อง Mirrorless อย่าง Panasonic Lumix GM1, Pentax Q และ Samsung NX Mini จะเห็นถึงความสำเร็จอย่างชัดเจนในการลดขนาดตัวกล้อง แต่ขนาดตัวกล้องที่เล็กลงอาจไม่เหมาะหรือไม่ใช่ความต้องการของนักถ่ายภาพบางคน ขณะที่มีกล้อง Mirrorless หลายรุ่นที่อยู่ห่างจากคำว่ากะทัดรัดออกมาเล็กน้อยเช่น Olympus OM-D E-M1 และ Panasonic GH4 เพราะตัวกล้องมีขนาดพอ ๆ กับ EOS 100D ซึ่งเป็นกล้อง DSLR ขนาดเล็กมากของ Canon ทั้งนี้สิ่งที่ควรพิจารณา เมื่อคิดจะเลือกซื้อกล้อง Mirrorless ก็คือลักษณะการถ่ายภาพของตนเอง ควรลองจับถือ และปรับควบคุมกล้องหลาย ๆ รุ่น เพื่อดูว่ากล้องรุ่นใดที่ให้ความรู้สึกที่ดีในการจับถือเมื่อถ่ายภาพ






ที่มา หนังสือFOTOINFO ISSUE 118 มกราคม 2558




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกล้อง Mirrorless ที่ช่างภาพควรทราบ อัปเดตล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 11:31:03 80,890 อ่าน
TOP
x close