ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Nasa
นักวิจัยชาวญี่ปุ่นเผย จักรวาลของเราอาจจะเป็นเพียงภาพมายา ซึ่งสะท้อนมาจากจักรวาลอื่น หลังพิสูจน์ทฤษฎีโฮโลแกรมด้วยโมเดลคณิตศาสตร์เป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2540 เกิดข้อโต้เถียงมากมายจากทฤษฎีโฮโลแกรมของ ฮวน มัลดาเซน่า (Juan Maldacena) นักทฤษฎีฟิสิกส์ชาวอาร์เจนตินา ที่เคยตั้งข้อสังเกตว่า จักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามองเห็น แม้แต่ตัวอักษรที่กำลังผ่านสายตาคุณอยู่นี้ เป็นเพียงแค่ภาพมายาของจักรวาลอื่นเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างโต้แย้งและหาข้อมูลสนับสนุนทฤษฎีนี้ ทว่านับแต่บัดนั้นก็ไม่มีการพิสูจน์ใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีโฮโลแกรม ดังกล่าวเป็นจริง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 เว็บไซต์เดลิเมล์ ของอังกฤษ มีการเปิดเผยว่า ทฤษฎีโฮโลแกรม อาจเป็นความจริง หลังมีการทดสอบด้วยโมเดลคณิตศาสตร์จากนักวิจัยชาวญี่ปุ่น
โดยก่อนหน้านี้เคยมีการอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีโฮโลแกรมเอาไว้ว่า แรงดึงดูดของจักรวาลมาจากการสะเทือนของเส้นใยบาง ๆ ซึ่งเส้นใยเหล่านั้นก็คือ โครงสร้างหลักของจักรวาลที่มีลักษณะแบนราบนั่นเอง และเมื่อนักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้นำเอาทฤษฎีทางคณิตศาสตร์หลาย ๆ ทฤษฎีมาคิดวิเคราะห์ ก็ได้พบกับแนวคิดว่า จักรวาลของเราอาจะเป็นเพียงอีกหนึ่งมิติของจักรวาลอื่น
หรือหากเปรียบง่าย ๆ จักรวาลของเราก็เหมือนกับความจำหรือข้อมูลมากกว่าสิ่งของที่มีตัวตนอยู่จริง โดยอาจจะเป็นภาพ 3 มิติของอนุภาคพื้นที่โดยรอบหลุมดำก็ได้ เพราะหลังจากการคำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ปรากฏว่า พลังงานของจักรวาลตรงกันกับพลังงานของพื้นที่รอบ ๆ หลุมดำนั่นเอง ซึ่งการคำนวณด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์นี้ จะสามารถนำไปสู่การค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับแรงดึงดูดของจักรวาลด้วยทฤษฎีควอนตัมได้ด้วย