เผยภาพดาวหางไอซอน วาดหางยาว 16 ล้านกิโลเมตร

 ดาวหางไอซอน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก skyandtelescope

           เผยภาพดาวหางไอซอน วาดหางยาว 16 ล้านกิโลเมตร รอลุ้นชมแบบสว่างที่สุดด้วยตาเปล่า วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้

           เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เว็บไซต์สกายแอนด์เทเลสโคป เปิดเผยภาพสุดทึ่งของดาวหางไอซอน ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เข้าไปทุกที โดยจากภาพเผยให้เห็นหางของดาวหางที่ยาวมากกว่า 16 ล้านกิโลเมตร

           ภาพถ่ายดังกล่าวบันทึกได้โดยนายไมเคิล จาเกอร์ ช่างภาพดาราศาสตร์จากออสเตรเลีย โดยบันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เหนือท้องฟ้าโปร่งที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งจากภาพจะเห็นว่าดาวหางดวงนี้มีหางยาวมาก นักดาราศาสตร์คาดว่าไม่ต่ำกว่า 16 ล้านกิโลเมตร หรือยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ประมาณ 12 เท่า

           อย่างไรก็ดี ดาวหางดวงนี้เพิ่งจะปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าให้เห็นในบางพื้นที่ แต่ก็เลือนลางจนแทบมองไม่เห็น และจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ ให้เห็นไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ด้วยระยะห่างราว 1 ล้านกิโลเมตรจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ ซึ่งถ้าหากความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่ทำให้ดาวหางดวงนี้สลายตัวไปก่อน เราก็จะได้เห็นดาวหางไอซอนที่สว่างชัดเจนที่สุด บนท้องฟ้าที่โปร่งและเป็นคืนเดือนมืด

           ทั้งนี้ สำหรับดาวหางไอซอน ถูกค้นพบเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนที่มีหางวาดยาวนับล้านกิโลเมตรดังกล่าว เป็นเพราะเมื่อมันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว น้ำแข็งรอบนอกของดาวระเหิดกลายเป็นก๊าซและฝุ่นขนาดมหึมาจนทำให้เห็นดาวหางเป็นดวงใหญ่ขึ้น ขณะที่รังสีของดวงอาทิตย์และลมสุริยะก็ทำให้หางของดาวกระพือออกเป็นลำยาวเป็นล้านกิโลเมตร และเมื่อฝุ่นก๊าซของดาวหางนี้สะท้อนกับดวงอาทิตย์เข้า ก็ทำให้เรามองเห็นดาวหางเป็นลักษณะวาดหางยาวพาดบนท้องฟ้าดังที่เห็นนี้








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยภาพดาวหางไอซอน วาดหางยาว 16 ล้านกิโลเมตร อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14:34:47 1,194 อ่าน
TOP
x close