ขยะอวกาศ ปัญหาจากห้วงอวกาศที่ต้องแก้ไข

ขยะอวกาศ ปัญหาจากห้วงอวกาศที่ต้องแก้ไข

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Nasa
 
          ในอดีตบนห้วงอวกาศอาจมีเพียงดวงดาว หรือเศษซากอุกกาบาต แต่ในปัจจุบันหากได้มีโอกาสเดินทางออกนอกโลก สิ่งที่คุณจะได้พบเจอไม่ได้มีเพียงสิ่งที่คุณคาดหวังไว้อีกแล้ว เพราะตอนนี้เหนือชั้นบรรยากาศขึ้นไปกลับมีวัตถุแปลกปลอม หรือ ขยะอวกาศ ลอยเคว้งคว้างเต็มไปหมด ถ้าหากตอนนี้คุณยังไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่า ขยะอวกาศคืออะไร วันนี้เราก็จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจกับเรื่องขยะอวกาศนี้มากยิ่งขึ้น

ความหมายของขยะอวกาศและที่มา

          ขยะอวกาศ คือ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอวกาศ และเป็นสิ่งของที่หมดสภาพการใช้งาน หรือถูกปลดระวางไปแล้ว แต่ยังคงลอยเคว้งคว้างอยู่ในวงโคจรโดยไม่ตกลงสู่พื้น ซึ่งขยะอวกาศมีทั้งซากดาวเทียม ซากจรวด ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผุพังจากการปะทะและโดนทำลาย ซึ่งขนาดของขยะ มีตั้งแต่ขนาดเล็กมากไม่ถึง 1 เซนติเมตรไปจนถึงขยะขนาดชิ้นใหญ่มหาศาล ซึ่งปริมาณของขยะอวกาศส่วนใหญ่จะพบมากในวงโคจรระดับต่ำบนความสูงระหว่าง 160-2,000 กิโลเมตร โดยเกิดจาก 3 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ การระเบิดของเชื้อเพลิงที่ถูกทิ้งในยานหรือจรวด การปะทะกันของดาวเทียมและการทำลายด้วยขีปนาวุธ

ผลกระทบและอันตรายจากขยะอวกาศ

          ปริมาณขยะอวกาศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นไปด้วย แม้จะเป็นเพียงขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่มีขนาดไม่ถึง  1 เซนติเมตรก็ตาม เนื่องจากขยะในอวกาศแต่ละชิ้นเคลื่อนที่ด้วยอัตราความเร็วสูง อย่างเช่น บนวงโคจรที่ความสูง 800 กิโลเมตร วัตถุจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 7.5 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกับยานอวกาศ โดยสามารถเห็นได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2526 หลังจากมีเศษสีพุ่งชนกระจกหน้าต่างของกระสวยอวกาศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายได้ถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,525,500 บาท และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ขยะอวกาศได้สร้างความเดือดร้อนให้กับนักบิน รวมถึงมนุษย์บนโลก เพราะขยะอวกาศขนาดใหญ่กว่า 95% ที่ล่องลอยอยู่ในวงโคจร ไม่สามารถจะสั่งการหรือควบคุมได้

          ดังนั้นจึงไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ว่า พวกมันจะตกลงมาจุดใดและเวลาใดบนพื้นโลก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2554 เมื่อดาวเทียมยูเออาร์เอสตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถึงแม้ในครั้งนั้นไม่มีรายงานการบาดเจ็บหรือความเสียหายใด ๆ แต่ทว่าก็สร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนไม่น้อยเลย

วิธีการกำจัดขยะอวกาศ

          เชือกลากไฟฟ้าพลศาสตร์ถูกนำมาใช้ในการลดปัญหาเรื่องขยะอวกาศ โดยการผูกทุ่นเอาไว้กับดาวเทียมด้วยเชือกลาก (Tether) อุปกรณ์ดังกล่าวก็จะทำหน้าที่คอยตรวจสอบการทำงานของดาวเทียม และจะดึงดาวเทียมให้เคลื่อนที่ช้าลง เมื่อพบว่าดาวเทียมดวงนั้นไม่สามารถใช้การได้แล้ว วิธีนี้ก็จะส่งผลให้วงโคจรของดาวเทียมต่ำลงและเผาไหม้ตัวเองบนชั้นบรรยากาศ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา อย่างเช่น การทำลายดาวเทียมด้วยเลเซอร์จากพื้นดิน หรือดาวเทียมที่สามารถบรรจุเชื้อเพลิง สำหรับขับเคลื่อนหลังปลดระวาง เพื่อใช้ในการทำลายตัวเองก็เป็นได้ 

ปริมาณขยะอวกาศในปัจจุบัน
         
          ปัจจุบันนี้ ปริมาณขยะอวกาศ ซึ่งรวมถึงเศษซากชิ้นส่วนดาวเทียมมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2521 โดยตอนนี้ มีขยะอวกาศขนาด 10 เซนติเมตรขึ้นไปราว ๆ 29,000 ชิ้น ลอยอยู่ในวงโคจรเหนือพื้นโลกในระดับใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวเทียมต่าง ๆ และขยะเหล่านี้ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วราว 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เร็วกว่าเครื่องบิน 40 เท่า)


          อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณของขยะอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก่อนที่พวกมันจะสร้างความเสียหายให้กับนักบินอวกาศ ผู้คนบนพื้นโลก และอุปกรณ์สำรวจห้วงอวกาศไปมากกว่านี้ องค์กรอวกาศทั่วโลกจึงได้หารือกันเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอวกาศแล้ว โดยมีโครงการทำการวิจัยต่าง ๆ ร่วมกันมากมาย ซึ่งก็หวังว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ทั้งหลายจะคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย เพื่อนำไปใช้ในการกำจัดขยะอวกาศได้เร็ว ๆ นี้




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขยะอวกาศ ปัญหาจากห้วงอวกาศที่ต้องแก้ไข อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2556 เวลา 17:12:47 2,504 อ่าน
TOP
x close