ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้

 ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้

ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Space.com
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Nasa        

          เมื่อพูดถึงดวงดาวก็มักจะคิดไปถึง วัตถุทรงกลมที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศ แต่สำหรับ ดาวหางนั้น แม้จะไม่จัดว่าเป็นดาวเคราะห์ทรงกลม แต่กลับมีความพิเศษมากกว่าเป็นแค่ดาวธรรมดาดวงหนึ่ง เพราะวัตถุทรงแปลกประหลาดแต่ละชิ้นมีหางยาว ๆ ที่ตามมาด้วยข้อมูลอีกมากมายที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยในวันนี้เราก็นำข้อมูลเกี่ยวข้องกับดาวหางจาก Space.com มาฝากกัน

ต้นกำเนิด

          นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า ดาวหางน่าจะเป็นเศษซากวัตถุที่หลงเหลือจากกลุ่มแก๊ส ฝุ่น น้ำแข็ง และก้อนหิน จากการก่อกำเนิดของระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน และได้ปรากฏแก่สายตาของผู้คนบนโลกหลายครั้งหลายคราจนเกิดทฤษฎีขึ้นมากมาย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2120 นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กก็ได้พิสูจน์การมีอยู่ของดาวหาง โดยการนำผลการติดตามเส้นทางของดาวหางของตัวเองไปเปรียบกับของคนอื่น จึงได้พบว่าดาวหางเป็นวัตถุที่อยู่ห่างไกลออกไปจากโลกอย่างน้อย 1 ส่วน 4 ของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ส่วนในปีพ.ศ. 2230 ไอแซค นิวตัน ก็พบว่า ดาวหางมีเส้นทางการโคจรเป็นรูปไข่ โดยมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง และโคจรในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ

          ซึ่งเมื่อนับถึงเดือนพฤษภาคม ของปีพ.ศ. 2552 มีรายงานการค้นพบดาวหางแล้วถึง 3,648 ดวงและในปัจจุบันก็มีการค้นพบดาวหางอย่างต่อเนื่อง

    
ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ภาพดาวหาง

ลักษณะทางกายภาพ

          นิวเคลียสของดาวหางเป็นก้อนหิมะสกปรกที่ประกอบด้วย น้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย พร้อมทั้งมีฝุ่นกับก้อนหินปะปนอยู่ด้วยบางส่วน โดยดาวหางส่วนใหญ่มีขนาดอยู่ที่ประมาณ 16 กิโลเมตรหรืออาจจะเล็กกว่านี้ แต่ก็มีดาวหางบางดวงที่มีขนาดใหญ่เกือบ 1.6 ล้านกิโลเมตร และความยาวของหางก๊าซถึง 160 ล้านกิโลเมตร

          หางก๊าซเหล่านั้นก็เกิดหลังจากที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ส่งผลให้น้ำแข็งบนพื้นผิวระเหิดกลายเป็นก๊าซปกคลุมรอบนิวเคลียสหรือที่เรียกกันว่า โคมา ซึ่งกลุ่มก๊าซเหล่านี้จะถูกพัดพาออกไปโดยลมสุริยะ ในทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ และเมื่อโมเลกุลก๊าซเหล่านั้นได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็จะเรื่องแสงออกมากลายเป็นส่วนหาง ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทั้งนี้ดาวหางส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีแสงเจือจาง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์เข้ามาช่วยในการค้นหา


ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ภาพฝนดาวตกเปอร์เซอิด
 
          การโคจรของดาวหางในแต่ละครั้งมักจะมีเศษซากหลุดร่อนออกมา ซึ่งเศษซากเหล่านั้นก็จะกลายเป็นดาวฝนในเวลาต่อมา อย่างเช่น ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเปอร์เซอิด (Perseid Meteors shower) ที่ปรากฏให้เห็นทุก ๆ ปีในวันที่ 9 และ 13 ของเดือนสิงหาคม หลังจากที่โลกโคจรตัดผ่านกับเส้นทางของร่องรอยดาวหาง Swift-Tuttle 

    
ลักษณะการโคจร

          ดาวหางส่วนใหญ่มีลักษณะการโคจรคล้ายคลึงกัน โดยจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี กล่าวคือ ดาวหางจะเคลื่อนตัวเข้าหาดวงอาทิตย์ก่อนที่จะพุ่งออกไปยังนอกระบบสุริยะ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ดาวหางแต่ละดวงมีคาบโคจรที่แตกต่างกัน บางดวงใช้ระยะเวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 200 ปีหรือน้อยกว่า ซึ่งดาวหางกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่ม ดาวหางคาบสั้น (Short-period Comets) อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ดาวหางคาบยาว (Long-period Comets) เป็นดาวหางที่มีเวลาการโคจรมากกว่า 200 ปี ส่วนดาวหางที่ปรากฏครั้งเดียว (Single-apparition Comets) เป็นดาวหางที่ไม่มีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ และในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์มีการค้นพบดาวหางโคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยด้วย กลุ่มดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้อาจเป็นกุญแจที่นำไปสู่ต้นกำเนิดของน้ำบนโลกก็เป็นได้


ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ภาพแถบไคเปอร์

          ส่วนแหล่งกำเนิดของดาวหางแต่ละกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ดาวหางคาบสั้น มาจากก้อนน้ำแข็งในแถบไคเปอร์ หรือบริเวณที่ไกลออกไปจากวงโคจรของดาวเนปจูน สำหรับดาวหางคาบยาวมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเมฆออร์ตที่อยู่ไกลออกไปจากแถบไคเปอร์ ส่วนสาเหตุที่ดาวหางมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของวงโคจร ก็น่าจะสืบเนื่องมาจากแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะนั่นเอง
    
การตั้งชื่อดาวหาง

          โดยทั่วไปชื่อของดาวหางมักจะนำมาจาก ชื่อของคนที่เป็นผู้ค้นพบดาวหางดวงนั้น อย่างเช่น ชื่อของดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 (Shoemaker-Levy 9 หรือ SL9) นำมาจากการค้นพบดาวหางครั้งที่ 9 ของ  ยูจีน (Eugene) กับแคโรลิน (Carolyn) ชูเมกเกอร์ และเดวิด เลวี นอกจากนี้ยังมีดาวหางอีกหลายดวงที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับยานอวกาศ อาทิ ยานอวกาศ SOHO หรือ WISE
    

จุดจบของดาวหาง

          จุดจบของดาวหางแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะด้วยกัน โดยดาวบางดวงก็โคจรออกนอกระบบสุริยะไปตามเส้นทางการโคจรของมัน ส่วนดาวหางบางดวงค่อย ๆ สูญเสียปริมาณน้ำแข็งและฝุ่นหลังจากเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ สำหรับดาวหางที่สูญเสียน้ำแข็งจนหมดก็กลายสภาพเป็นวัตถุคล้ายกับดาวเคราะห์น้อย

          ในขณะที่บางดวงแตกกระจายออกเป็นฝุ่นละออง นอกจากนี้จุดจบของดาวหางอาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่พวกมันพุ่งชนดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ได้เช่นกัน


ดาวหางที่มีชื่อเสียง

ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ภาพดาวหางฮัลเลย์
   
          ในบรรดาดาวหางทั้งหมด ดาวหางฮัลเลย์ (Halley) น่าจะเป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ซึ่งถูกตั้งชื่อตาม เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ค้นพบนั่นเอง และดาวหางดวงนี้จะโคจรกลับมาให้เห็นทุก ๆ 75-76 ปี ในระยะที่มันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยครั้งล่าสุดปรากฏให้เห็นเมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งการปรากฏตัวครั้งนั้นมียาวอวกาศถึง 5 ลำที่สามารถเข้าใกล้ได้มากพอที่จะเก็บข้อมูลในนิวเคลียสหรือบริเวณที่ปกคลุมด้วยโคมาได้ ซึ่งข้อมูลรายงานถึงสภาพด้านในของดาวหางฮัลเลย์ว่า มีลักษณะคล้ายกับมันฝรั่งขนาด 15 กิโลกรัม 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่มาจากน้ำ ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์มาจากก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นฝุ่นผงขนาดเล็ก ซึ่งนักวิจัยหลายคนเชื่อว่า พื้นที่ภายในของดาวหางดวงอื่น ๆ ก็น่าจะมีลักษณะไม่ต่างกัน


ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ภาพดาวหางชูเมกเกอร์ เลวี 9

          ส่วนดาวหางอีกดวงก็คือ ดาวหาง ชูเมกเกอร์ เลวี 9 ที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดีในปี พ.ศ. 2537 หลังจากการปะทะของ 2 ดาวในครั้งนั้นทำให้เกิดลูกไฟรูปดอกกุหลาบกินพื้นที่เป็นความกว้างกว่า 3,000 กิโลเมตร เป็นอุบัติการณ์ที่สามารถสังเกตเห็นการปะทะระหว่างวัตถุได้โดยตรงเป็นครั้งแรก ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการปะทะในครั้งนี้คือ ทำให้เราได้เห็นถึงสภาพบรรยากาศและบทบาทของดาวพฤหัสบดีด้วย

          ธรรมชาติมักจะสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์มาให้เราประหลาดใจกันอยู่เสมอ และดาวหางก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นแถมยังมาพร้อมกับรายละเอียดต่าง ๆ มากมายที่น่าสนใจ ซึ่งหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นกุญแจที่นำไปสู่คำตอบสำหรับหลาย ๆ ปัญหาในอวกาศที่รอการพิสูจน์ทั้งในอดีตและอนาคต

  
ภาพดาวหาง

ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ดาวหางแมคนอต (Comet McNaught)

ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้
    ดาวหางเนท (Neat)

    


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดาวหาง ความสวยงามจากห้วงอวกาศกับเรื่องน่ารู้ อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2556 เวลา 18:23:18 4,194 อ่าน
TOP
x close