x close

โรคร้ายน่าห่วง เมื่อไปเยือนอวกาศ

โรคร้ายน่าห่วง เมื่อไปเยือนอวกาศ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          การจะเป็นนักบินอวกาศไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยสักนิด เพราะนอกจากจะต้องทนฝึกฝนร่างกายตั้งนาน และเสี่ยงกับภารกิจที่ความผิดพลาดอาจหมายถึงชีวิตแล้ว เวลาขึ้นไปอยู่บนอวกาศยังเสี่ยงกับโรคภัยมากกว่าปกติอีกด้วย พูดแบบนี้แล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะสงสัยว่าการขึ้นไปใช้ชีวิตบนอวกาศนั้นเสี่ยงโรคภัยอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบจากทาง NASA ซึ่งได้ทำการวิจัยผ่านการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศมาฝากกัน

          จากการวิจัยภาวะร่างกายและความเสี่ยงต่อโรคภัยเมื่ออยู่บนอวกาศ ขององค์การนาซา พบว่า ภาวะไร้ซึ่งแรงดึงดูด จะทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานผิดปกติ นำมาสู่ความเสี่ยงการเป็นโรคเกี่ยวกับเยื่อบุผิว, มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินลำไส้ รวมทั้งโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และความผิดปกติในการทำงานของเซลล์นี้ อาจทำให้เกิดความผิดปกติในกล้ามเนื้อหรือกระดูกได้เลยทีเดียว

          นอกจากนี้ ภาวะที่ปราศจากแรงโน้มถ่วงยังมีผลให้ภูมิคุ้มกันในการต้านทานเชื้อโรคลดลง โดยเฉพาะซาลโมเนลลา แบคทีเรียที่เกิดจากอาหารซึ่งทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 94 ล้านรายทั่วโลก ในขณะที่เสียชีวิตไป 155,000 คนต่อปี และแค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ก็มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้มากกว่า 40,000 ราย รวมทั้งเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 รายแล้ว

          อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักวิจัยจะนิ่งเฉยกับปัญหานี้ เพราะนับตั้งแต่มองเห็นความเสี่ยงดังกล่าว ก็ได้มีการทดลองหาทางแก้อยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดก็ได้มีการส่งวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากซาลโมเนลลา ขึ้นไปกับชุดภารกิจ STS-135 ด้วย โดยวัคซีนนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน และแม้มันจะได้ผลเพียงแค่ 70% เท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

          นอกจากนี้ เพื่อให้วัคซีนชุดต่อไปได้ผล 100% นักจุลชีววิทยา เชอร์ริล นิคเคอร์สัน จึงยังคงทำการศึกษาค้นหาวิธีที่สามารถช่วยให้นักบินอวกาศสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยปราศจากโรคภัย ด้วยการใช้พยาธิตัวกลมเป็นตัวทดลอง ซึ่งเขาคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพราะมันต่างก็เป็นพาหะนำโรคเกี่ยวกับลำไส้เหมือนกัน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคร้ายน่าห่วง เมื่อไปเยือนอวกาศ อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2556 เวลา 18:28:27 1,417 อ่าน
TOP