10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  listverse.com

          เวลาที่เห็นภาพของนักบินอวกาศลอยตัวเบาเหินอยู่บนสถานีอวกาศ เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่ต่างกันว่า อยากจะลองขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักแบบนั้นบ้างจังเลย คงสนุกน่าดู แต่หากลองมาศึกษากันดูจริง ๆ แล้ว จะพบว่าการใช้ชีวิตอยู่บนยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะครับ เพราะนอกจากเราจะต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิตทุกอย่างแล้ว ร่างกายของเรายังมีการปรับเปลี่ยนอย่างไม่รู้ตัวด้วย แต่จะมีอะไรบ้างนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตบนอวกาศมาให้ได้ดูกัน


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

1. ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ

          ร่างกายของคนเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก โดยเริ่มจากส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5.72 เซนติเมตร (2.25 นิ้ว) ส่วนเหลวต่าง ๆ ในร่างกายก็จะเคลื่อนตัวสู่ศีรษะมากกว่าตอนที่อยู่บนพื้นดิน ดังนั้นคุณอาจจะเห็นได้ว่ารูปร่างกับหน้าตาของนักบินอวกาศบิดเบี้ยว ผิดรูปไปจากเดิมเล็กน้อย จากผิวหนังที่เคยเหี่ยวย่นก็กลับเต่งตึง กล้ามเนื้อแขนขาเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

2. อาการเมาอวกาศ (Space Adaptation Syndrome)

          สภาวะไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศไม่ได้ทำให้ร่างกายทางกายภาพของเราเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับระบบประสาททำงานผิดเพี้ยนด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบสมอง ประสาทการมองเห็น และการรับเสียง ทำให้นักบินอวกาศเกิดความสับสน เสียการทรงตัว คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากกินอาหาร โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการดังกล่าวในช่วง 2-3 วันแรก ดังนั้นทางองค์การนาซาจึงต้องติดยาไว้กับผิวหนังของนักบินอวกาศในระหว่างนี้ และถอดออกเมื่อร่างกายของพวกเขาสามารถปรับตัวได้แล้ว

          ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้วุฒิสมาชิกแจ็ค การ์น อดีตนักบินอวกาศ เกิดอาการเมาอวกาศรุนแรงที่สุด ดังนั้นเพื่อนนักบินอวกาศจึงนำชื่อของเขามาใช้ในการวัดระดับความรุนแรงของอาการ โดยใช้ชื่อว่า การ์น สเกล (Garn Scale) แต่จากวันนั้นจนกระทั่งตอนนี้ยังไม่มีใครที่มีอาการรุนแรงถึงขั้น 0.1 การ์นเลยสักราย


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

3. การนอนหลับ

          หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า การนอนหลับในห้วงอวกาศเป็นเรื่องง่าย เพราะบรรยากาศรอบตัวรายล้อมไปด้วยความมืดมิด แต่ในความเป็นจริงยากเกินกว่าใครจะจินตนาการได้ เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาตกอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ดังนั้นสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นแม้กระทั่งที่นอนก็ต้องมีสายระโยงระยางสำหรับผูกติดกับผนังของสถานีอวกาศด้วย โดยห้องนอนบนสถานีอวกาศนั้น แยกเป็น 2 ส่วนคือ ห้องนอนสำหรับนักบินอวกาศที่มาประจำการ กับแบบถุงนอนของนักบินอวกาศที่ขึ้นมาปฏิบัติภารกิจในช่วงสั้น ๆ

          นอกจากนี้ นักบินอวกาศยังต้องกะเวลาสำหรับการพักผ่อนของตัวเองด้วย เนื่องจากในหนึ่งวันบนห้วงอวกาศนั้นมีจำนวนพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกถึง 16 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะนอนพักหลังจากปฏิบัติภารกิจในแต่ละครั้งเสร็จสิ้น และพักเป็นเวลานาน  8 ชั่วโมง โดยในระหว่างที่พวกเขานอนก็จะมีเครื่องดูดอากาศ เอาไว้กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการหายใจด้วย


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

4. การทำความสะอาดร่างกาย


          ในสภาวะที่ทุกอย่างลอยตัวอยู่เหนือพื้นดินทำให้ชีวิตประจำวันของนักบินอวกาศยากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในเวลาที่พวกเขาทำความสะอาดร่างกาย เนื่องจากน้ำจะกระจายตัวออกทันทีที่หลุดจากท่อส่ง และจะไปติดตามส่วนต่าง ๆ ภายในห้อง ไม่ว่าจะเป็นผนัง ประตู หรืออุปกรณ์ ดังนั้นทางองค์การนาซาจึงได้คิดค้นอุปกรณ์ใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เข้ากับสภาพไร้น้ำหนักมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แชมพูชนิดที่ไม่ต้องล้างออก แบบเดียวกับที่โรงพยาบาลนำมาใช้กับคนไข้ ฟองน้ำสำหรับขัดตัว มีเพียงแปรงสีฟันกับที่โกนหนวดเท่านั้นที่ยังคงเหมือนเดิม


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ
 
5. ห้องน้ำ

          ห้องน้ำในสถานีอวกาศก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับห้องน้ำบนโลกทั่วไป เพียงแต่อาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของระบบกำจัดของเสีย โดยห้องน้ำของเหล่านักบินอวกาศจะมีท่อดูดของเสียไปกักเก็บไว้ในถังเก็บ โดยแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นอุจจาระก็จะส่งไปตาท่ออากาศก่อนจะปล่อยสู่ห้วงอวกาศทั้งนี้ภายในท่อก็จะมีฟิลเตอร์กรองอากาศ เพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่สำหรับปัสสาวะจะถูกแยกเอาไว้อีกส่วน ก่อนที่จะส่งไปยังถังเก็บ เพื่อกรองเป็นน้ำใช้ทั่วไปอีกครั้ง


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

6. เสื้อผ้า

          ชิ้นส่วนของเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเห็นที่คงเป็นชุดของใครไปไม่ได้ นอกจากชุดสูทนักบินอวกาศ SK-1 ของยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรกของโลก ผลิตโดย เอ็นพีพี สเวียซด้า ของรัสเซีย ซึ่งชุดดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 122.5 กิโลกรัมเมื่ออยู่บนพื้นโลก และใช้เวลาในการสวมใส่ 45 นาที แถมยังเป็นสีส้มสด เพื่อให้ง่ายต่อการตามหาตัวเมื่อถึงพื้นดินด้วย ซึ่งแตกต่างกับชุดฟอร์มของนักบินในรุ่นหลัง ๆ ที่มักจะเป็นชุดสีขาวเสียมากกว่า อีกทั้งในสถานีอวกาศยังมีตู้เสื้อผ้าสำรองให้ด้วย โดยส่วนมากลูกเรือจะเปลี่ยนชุดกันทุก ๆ 3 วัน

          อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทางนาซามีแผนที่จะสร้างชุดนกบินโดยใช้เศษขยะเหลือทิ้ง จากแผนเดิมที่เคยวางเอาไว้ว่า จะสร้างชุดนักบินที่มีท่อระบายของเสียไปยังห้องน้ำได้โดยตรง


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

7. การออกกำลังกาย

          เนื่องจากสภาวะไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศมีผลให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายลีบเล็กลง เพราะไม่ต้องรับน้ำหนักกับสิ่งใดเลย ดังนั้นเหล่านักบินอวกาศจึง "จำเป็น" ต้องออกกำลังกาย เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อเอาไว้อยู่เสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยจะเน้นกล้ามเนื้อแขนกับขาเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกพร้อมกับเรียกความแข็งแรงกลับมาด้วย


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

8. อาการท้องอืด

          อาการท้องอืดนอกจากจะทำให้เรารู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวแล้ว ยังทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ยากลำบากมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในห้วงอวกาศ ดังนั้นในปีค.ศ. 1969 นาซาจึงได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า "Intestinal hydrogen and methane of men fed space diet" เพื่อลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการย่อยอาหารในลำไส้

          โดยในปัจจุบันการรักษาอาการดังกล่าวไม่ได้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ลง แต่ยังคงให้ความสำคัญกับสารอาหารที่ร่างกายของนักบินอวกาศต้องการอยู่เช่นเดิม


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

9. อวกาศเป็นอันตรายต่อสมอง

          สภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศไม่ได้ทำลายแค่กล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายต่อสมองด้วย โดยเฉพาะนักบินอวกาศที่ออกสำรวจบนดาวต่าง ๆ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีคอสมิกที่แพร่กระจายอยู่ในห้วงอวกาศโดยตรง เพราะไม่มีสิ่งใดปกป้อง แตกต่างจากบนโลกที่มีชั้นบรรยากาศคอยปกป้องผู้คนให้ปลอดภัยจากรังสีดังกล่าว ฉะนั้นนักบินอวกาศส่วนใหญ่จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงกว่าคนปกติทั่วไป


10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ

10. เชื้อโรคตัวอันตราย

          ทั้งจุลินทรีย์  แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่าง ๆ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในห้วงอวกาศเลยทีเดียว เพราะถ้าหากพวกมันอยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ก็จะสร้างความเสียหายให้กับเครื่องมือ อุปกรณ์ที่อยู่ในยานอวกาศและสถานีอวกาศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังอันตรายกับร่างกายของนักบินด้วย แม้ว่าจะผ่านการฆ่าเชื้อก่อนทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้วก็ตาม

          อย่างไรก็ดี เชื้อโรคเหล่านี้จะไม่เจริญเติบโตในสภาวะไร้น้ำหนัก ยกเว้นบริเวณที่มีความชื้น เชื้อโรคก็จะอาศัยจุดนี้พัฒนาตัวเองขึ้นมา ก่อนจะแพร่พันธุ์ไปยังส่วนอื่น ๆ ของยานหรือสถานีอวกาศ ทั้งอุปกรณ์ภายในและนักบินทั้งหมด

           ใช้ชีวิตบนโลกว่ายากแล้ว แต่การใช้ชีวิตบนห้วงอวกาศแบบนักบินอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติในห้วงอวกาศเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะไม่เพียงแต่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะไร้น้ำหนักเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้และฝึกตัวเองให้สมบูรณ์พร้อมเสมอ ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังต้องปกป้องตัวเองจากโรคภัยต่าง ๆ ที่มีความรุนแรงมากกว่าด้วย





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนอวกาศ อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2556 เวลา 09:36:52 23,285 อ่าน
TOP
x close