เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก allthingsapple.me
เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ในกลุ่ม iDevice ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPod touch หรือ iPad หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักคำว่าเจลเบรก (Jailbreak) กันดี แต่หากยังไม่รู้จักสามารถเข้าไปอ่านได้จากบทความ Jailbreak .. หนึ่งในความเข้าใจผิดของผู้ใช้งาน Smartphone ไทย ซึ่งถ้าพูดกันตามหลักความจริงแล้ว การเจลเบรกนั้นถือว่าเป็นการใช้งานที่ขัดต่อเงื่อนไขและข้อตกลงของแอปเปิล และมีผลกระทบต่าง ๆ ตามมาอีกหลายประการที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่เจลเบรกเครื่องตัวเอง ว่าแล้วเราก็มาดูกันเลยดีกว่า ว่าข้อเสียของการเจลเบรกนั้นมีอะไรบ้าง
ความเสถียร
เครื่องที่ทำการเจลเบรกแล้วอาจมีผลกระทบให้ความเสถียรของเครื่องน้อยลงได้ ส่งผลให้เกิดอาการทำงานผิดปกติ อย่างเช่น เครื่องช้า, ค้าง หรือข้อมูลหาย และยิ่งลงแอพพลิเคชั่นเถื่อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผลกระทบต่อเครื่องทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจสร้างความหงุดหงิดให้กับผู้ใช้ได้พอสมควร
ความปลอดภัย
การเจลเบรกจะเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงข้อมูลและทำความเสียหายให้กับเครื่องได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะบรรดาแอพพลิเคชั่นเถื่อนทั้งหลายที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของแอปเปิล จึงอาจมีมัลแวร์หรือไวรัสแฝงตัวอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งก็เหมือนทำให้เครื่องเราอยู่ในสภาวะเสี่ยงตลอดเวลานั่นเอง
อายุของแบตเตอรี่
การเจลเบรกเพื่อปรับแต่งเครื่องและลงแอพพลิเคชั่นเถื่อนนั้น อาจกินพลังงานแบตเตอรี่มากกว่าปกติ ซึ่งทำให้แบตเตอรี่หมดไวกว่าที่ควรจะเป็น และต้องคอยชาร์จบ่อยขึ้น ซึ่งตามปกติอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั้นแบตหมดค่อนข้างไวอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเจลเบรกแล้วแบตหมดไวกว่าเดิมอีกจะขนาดไหนกันล่ะเนี่ย...
การอัพเดท
หากทำการเจลเบรกแล้วจะไม่สามารถอัพเดทซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่จากแอปเปิลได้อีก โดยวิธีเดียวที่จะสามารถทำให้อัพเดทได้ก็คือยกเลิกการเจลเบรกเท่านั้น หรือรอให้เจลเบรกออกเวอร์ชั่นใหม่ตามมาก่อน ซึ่งก็ใช้เวลาค่อนข้างนานเลยทีเดียว ไม่งั้นก็คงยอมใช้เวอร์ชั่นเก่าต่อไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
การส่งสัญญาณเสียงและข้อมูล
เครื่องที่เจลเบรกแล้วอาจส่งผลให้เกิดการขัดข้องในการส่งสัญญาณเสียงหรือข้อมูลได้ เช่น กำลังสนทนาอยู่แล้วสายหลุด, เสียงขาด ๆ หาย ๆ , อินเทอร์เน็ตวิ่งช้ากว่าปกติ หรืออาจหลุดบ่อย ไม่เสถียร ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้วยังสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ไม่น้อยเลยทีเดียว
บริการต่าง ๆ
บริการต่าง ๆ ของแอปเปิล อย่างเช่น Visual Voicemail, Weather, and Stocks ฯลฯ อาจไม่สามารถใช้งานได้บนเครื่องที่ทำการเจลเบรกแล้ว หรืออาจใช้ได้อย่างไม่ราบรื่นนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวเจลเบรกทำใจว่าอาจไม่ได้ใช้บริการพวกนี้นะจ๊ะ
เครื่องบริค
ถึงแม้ว่าการเจลเบรกนั้นอาจทำไม่ยากอย่างที่คิด แต่ความผิดพลาดมันก็สามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้ที่จะทำการเจลเบรกก็ต้องแบกรับความเสี่ยงไปด้วย ซึ่งหากมีอะไรผิดพลาดก็อาจทำให้เครื่องเกิดอาการบริค (Brick) ที่จะทำให้เครื่องไม่สามารถใช้งานได้นั่นเอง โดยวิธีแก้ปัญหาก็คือการล้างเครื่องและลงระบบใหม่ทั้งหมด เรียกได้ว่างานเข้ากันเลยทีเดียว
การรับประกัน
เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเครื่องที่ผ่านการเจลเบรกมาแล้วจะถือว่าสิ้นสุดการรับประกันจากทางแอปเปิลในทันที ทีนี้ถ้าเกิดเครื่องมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ไม่สามารถส่งซ่อมได้แล้ว เพราะแอปเปิลจะไม่รับซ่อมให้นั่นเอง ทีนี้ก็ต้องพึ่งตัวเองไม่ก็ช่างนอกศูนย์เอาเองแล้วล่ะ ซึ่งถ้าสามารถซ่อมได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ล่ะ...
อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะเจลเบรกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการและความพึงพอใจของเจ้าของเครื่องล้วน ๆ ซึ่งหากยอมรับข้อเสียและผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ก็สามารถเจลเบรกได้ตามที่ใจต้องการเลย แต่หากไม่ต้องการรับความเสี่ยงหรือความยุ่งยากต่าง ๆ ก็ใช้แบบไม่เจลเบรกเหมือนเดิมนั่นแหละดีที่สุดแล้ว จริงไหม?