ครม. ปรับภาษีรถยนต์ 7 ประเภท ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ครม. มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ทั้ง 7 ประเภท โดยจัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เริ่มใช้จริง 1 มกราคม 2559

           เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาการบิดเบือนโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รถยนต์ และสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีรถยนต์ และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ของโลก โดยจะเปลี่ยนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบ และจัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

           ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยคิดตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเป็นการคิดภาษีจะแบ่งตามประเภทรถยนต์ 7 ประเภท ประกอบด้วย

           1. รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%

           - ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 35%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 40%

 
            2. รถยนต์นั่งประเภทอี 85 และรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25%

           - ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 35%

       
           3. รถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 10%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 100-150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 20%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25% และปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 30%
 
           4. รถยนต์กระบะที่ไม่มีพื้นใส่สัมภาระด้านหลังคนขับ มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 3%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 5%
 

           5. รถยนต์กระบะที่มีพื้นใส่สัมภาระด้านหลังคนขับ มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 5%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 7%   
 

           6. รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (ดับเบิ้ลแคป) มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 12%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 15%
 
           7. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี ภาษี มีอัตราการจัดเก็บภาษีดังนี้

           - ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25%

           - ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%

           นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นควรว่าให้มีช่วงระยะเวลาในการปรับตัวของผู้ประกอบการรถยนต์เป็นเวลา 3 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 เนื่องจากกระทรวงการคลังวิเคราะห์ผลกระทบว่า การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการบางราย ทั้งนี้ การคำนวณรายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 เป็นเงินถึง 25,693 ล้านบาท
                    
           อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. ยังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอให้มีการเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตนำเข้ารถจักรยานยนต์ ขนาดกระบอกสูบ 800-1,000 ซีซี ที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่ที่ 103% โดยจะมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 20% เป็น 123% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยให้มีรายได้จากการเก็บภาษีส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็นวงเงินประมาณ 150 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า ผู้ที่สามารถซื้อรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดดังกล่าวได้เป็นผู้มีฐานะเพียงพอที่จะชำระภาษีเพิ่ม

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม. ปรับภาษีรถยนต์ 7 ประเภท ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อัปเดตล่าสุด 19 ธันวาคม 2555 เวลา 11:43:35 2,061 อ่าน
TOP
x close