เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
หลังจากกลายเป็นประเด็นฮือฮาทั่วเน็ต กรณีอินสตาแกรมออกกฎระเบียบใหม่ ระบุว่าอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กสามารถนำภาพของผู้ใช้ไปใช้เพื่อโฆษณาและการค้าได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวางนั้น ล่าสุด ทางอินสตาแกรมก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว พร้อมยอมรับว่าใช้ภาษาผิดพลาด จนนำมาซึ่งความสับสนเท่านั้น
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า อินสตาแกรมได้ออกมาเปิดเผยชัดเจนแล้วว่า ประเด็นเรื่องกฎการนำรูปภาพของผู้ใช้ไปใช้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้านั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิดจากการใช้ภาษาสับสนในระเบียบใหม่ที่เผยแพร่ออกมา และทางอินสตาแกรมขอยืนยันว่า จะไม่มีการนำภาพถ่ายของผู้ใช้ไปใช้เพื่อการค้า หรือการโฆษณาอย่างแน่นอน
โดยทางด้านนายเควิน ซิสตรอม ผู้บริหารระดับสูงของอินสตาแกรม ได้ออกมาเปิดเผยผ่านบล็อกว่า "มันเป็นความผิดพลาดของเราเองที่ใช้ภาษาชวนให้เข้าใจผิด ตอนนี้เรากำลังแก้ไขภาษาที่ใช้ในระเบียบข้อตกลงใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้สบายใจในจุดนี้"
ทั้งนี้ สำหรับกฎระเบียบใหม่ที่สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ก่อนหน้านี้ ระบุว่าทางอินสตาแกรมจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งก็ทำให้ผู้ใช้หลายคนเกือบจะลบบัญชีอินสตาแกรมทิ้งซะแล้ว
[18 ธันวาคม] ระวัง! โพสต์ภาพลงอินสตาแกรมอาจถูกเฟซบุ๊กไปใช้โฆษณา มีผล 16 ม.ค.
อินสตาแกรม (Instagram) อัพเดทเงื่อนไขการใช้บริการใหม่ ส่งผลให้ข้อมูลและรูปภาพที่ผู้ใช้โพสต์ลงอินสตาแกรมอาจถูกนำไปใช้โฆษณาบนเฟซบุ๊กได้ มีผลตั้งแต่ 16 มกราคม 2556
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา แหล่งข่าวต่างประเทศได้รายงานว่า ทางอินสตาแกรมได้อัพเดทในส่วนของนโยบายความเป็นส่วนตัวและเงื่อนไขการใช้บริการ (privacy policy and terms of service) โดยกล่าวถึงข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการที่อินสตาแกรมและเฟซบุ๊กอาจนำรูปภาพที่ผู้ใช้อัพโหลดขึ้นอินสตาแกรมไปใช้กระทำการอย่างอื่น ๆ อย่างการโฆษณาได้ โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2556 เป็นต้นไป แต่จะไม่มีผลกับรูปเก่า ๆ ที่ผู้ใช้เคยอัพโหลดไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ จากข้อกำหนดและเงื่อนไขดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้อินสตาแกรมนั้นสามารถให้บริษัทแม่อย่างเฟซบุ๊ก รวมทั้งบริษัทในเครือและโฆษณาต่าง ๆ นำไปใช้ได้ ซึ่งหมายความว่ารูปภาพ, ข้อความ รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมดที่อยู่บนอินสตาแกรม อาจถูกนำไปใช้ในการโฆษณาบนเฟซบุ๊กได้ โดยที่ผู้ใช้อาจไม่รู้ตัวเลย รวมถึงเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี (แต่มากกว่า 13 ปี) ที่ลงทะเบียนใช้บริการนั้น จะถือว่าผู้ปกครองได้รับรู้และยอมรับแล้วว่าข้อมูลของบุตรหลานอาจถูกนำไปใช้ในการโฆษณา นอกจากนี้ ในเงื่อนไขยังได้ระบุอีกว่า โฆษณาอาจไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโฆษณาหรือไม่ เพราะทางบริษัทไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่ารูปภาพหรือข้อความใดที่เป็นโฆษณาบ้าง
ทั้งนี้ หากผู้ใช้ไม่ต้องการให้รูปภาพและข้อมูลอื่น ๆ ของตนถูกนำไปใช้ในการโฆษณา ท่านมีเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น นั่นคือเลิกใช้บริการ เพราะหากผู้ใช้เข้ามาใช้บริการ ก็ถือว่าเป็นการยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดแล้วนั่นเอง และถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ใช้งานอินสตาแกรม แต่ถ้ามีเพื่อนหรือคนรู้จักนำรูปของท่านไปโพสต์หรือแชร์บนอินสตาแกรม รูปของท่านก็มีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้ในการโฆษณาได้อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม การอัพเดทเงื่อนไขดังกล่าว ทางอินสตาแกรมได้อ้างว่าเป็นการช่วยป้องกันสแปมต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รวมไปทั้งบริษัทด้วย