x close

ผ่า! ทิศทางแท็บเล็ต 2012 ใครจะอยูใครจะไป?


ผ่า! ทิศทางแท็บเล็ต 2012 ใครจะอยูใครจะไป?


ผ่า! ทิศทางแท็บเล็ต 2012 ใครจะอยูใครจะไป? (E-Commerce)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก iamconcise.com

           กาลเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า iPad (ไม่ว่าจะรุ่นไหน) คือราชันย์แห่งวงการแท็บเล็ตโดยไม่ต้องสงสัย รายงานจากหลายบริษัทวิจัยชั้นนำระบุว่า iPad สามารถครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 60-70% และยังมีไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้ ขณะเดียวกันหลายบริษัทคู่แข่งก็ได้พยายามกระโจนเข้าสู่ตลาดที่มีอนาคตอันสดใสนี้โดยใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันไป บ้างทำซอฟท์แวร์ให้บริษัทอื่นนำไปใช้ (Google) บ้างก็พัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ (HP, BlackBerry) แต่ก็ยังคงไม่มีบริษัทใดสามารถโค่นแชมป์เก่าลงได้สำเร็จ

            แต่ถึงอย่างไร ได้มีนักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นตรงกันว่า จุดอ่อนที่ Apple ยังคงเปิดช่องว่างไว้ให้คู่แข่งกินส่วนแบ่งจากเค้กก้อนโตชิ้นนี้ก็คือ ความหลากหลายของที่ยังนับว่าน้อย (มีเพียงหน้าจอขนาดเดียว) และการที่เรายังคงใช้ทำอะไรไม่ค่อยได้มากกว่าบริโภคคอนเทนต์ไปวัน ๆ จุดนี้เองที่เหมือนกับเป็นการเปิดช่องว่างให้ Amazon และ Google เปิดตัวแท็บเล็ต Kindle Fire และ Nexus 7 ซึ่งมีขนาดหน้าจอเล็กลงมาเหลือ 7 นิ้วและมีราคาถูกกว่าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกในการพกพา รวมทั้งเป็นการเปิดช่องให้ Microsoft เปิดตัว Surface แท็บเล็ตที่เน้นการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไปพร้อม ๆ กับเสพแอปพลิเคชัน เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งนั่นเอง


iPad Mini อุดช่องว่างด้านราคา?


iPad Mini

            แน่นอนว่าตัวเลขยอดขายของ iPad ยังคงน่าประทับใจ ในรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสสาม 2012 ให้ข้อมูลว่า Apple สามารถจำหน่าย iPad 2 และ The New iPad รวมกันได้มากถึง 17 ล้านเครื่อง มากกว่าไตรมาสที่ผ่านมาถึง 44% ยอดขายที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้เป็นตัวชี้วัดอันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับจากผู้บริโภคอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดแข็งด้านอื่น อาทิ ปริมาณแอปพลิเคชันที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 225,000 รายการ มากที่สุดในหมู่แท็บเล็ตทั้งมวล รวมทั้ง Apple Retail Store ร้านค้าปลีกซึ่งช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เหนือชั้นมากขึ้นที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 360 สาขาทั่วโลก

            ปัจจุบันมีบริษัทคู่แข่งที่พัฒนาแท็บเล็ตหน้าจอเล็กออกมามาก จึงทำให้ข่าวเกี่ยวกับ iPad Mini ที่มีหน้าจอราว 7 นิ้วมีออกมาให้เห็นไม่ขาดสายเช่นกัน ส่วนตัวคิดว่า ในตอนนี้คำถามไม่ใช่อยู่ที่ Apple จะทำ iPad Mini ออกมาหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า จะทำมาทำไมและเพื่ออะไรมากกว่า เนื่องจากจริงอยู่ที่คู่แข่งจะพัฒนาแท็บเล็ตหน้าจอ 7 นิ้วออกมาป้อนกลุ่มลูกค้ากระเป๋าเบาและชื่นชอบความสะดวก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงตอบรับและยอดขายที่ได้จะดีมากเสมอไป รายงานจาก International Data Corporation (IDC) ระบุว่า ยอดขายของ Kindle Fire ประจำไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 อยู่ที่ 4.7 ล้านเครื่อง (Kindle Fire เริ่มจำหน่ายวันที่ 15 พฤศจิกายน 2011 ยอดขายดังกล่าวจึงนับว่าดีมาก) แต่หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ยินรายงานยอดขายแท็บเล็ตตัวนี้ อีกเลย การที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาอีกนับว่าเป็นประเด็นให้ถกเถียงถึงการยอมรับแท็บเล็ตหน้าจอมินิตัวนี้ว่าดีขึ้นหรือน้อยลงเพียงไร อีกคำถามหนึ่งที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบก็คือ หน้าจอขนาด 7 นิ้วคือขนาดที่เหมาะสมแล้วหรือ? คำพูดของ Steve Jobs ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ หน้าจอขนาดดังกล่าวนั้นเล็กเกินไปที่จะแสดงคอนเทนต์ออกมาได้สวยงาม และผู้ผลิตคงต้องแถมกระดาษทรายให้ผู้ใช้ไปขัดนิ้วตัวเองให้เล็กลงเพื่อที่จะใช้งานได้อย่างสะดวก! อีกทั้งตอนนี้ต้องไม่ลืมว่า iPad ที่วางขายมีอยู่ด้วยกันสองความละเอียด คือแบบธรรมดา (iPad 1 กับ 2) และ Retina Display (The New iPad) การที่ไปเพิ่ม iPad Mini ที่มีหน้าจอและความละเอียดน้อยลงไปอีก อาจสร้างความยุ่งยากให้กับโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ก่อให้เกิดปัญหา fragmentation ตามมาเช่นเดียวกับที่ Android กำลังประสบ เว้นเสียแต่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาด้วยการทำให้หน้าจอและขนาดเครื่องเล็กลงจริง แต่คงความละเอียดไว้เท่าเดิม

            อย่างไรก็ดี ได้มีผู้วิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การที่ iPad ครองส่วนแบ่งตลาดได้เพียง 3 ใน 4 นั้นอาจไม่ใช่ข้อดีในระยะยาว เพราะแน่นอนว่านับวัน Apple จะต้องเผชิญคู่แข่งจากหลากหลายแบรนด์มากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ Google หรือ Amazon แต่กับทั้ง Microsoft และกระทั่ง Barnes & Noble ร้านหนังสือรายใหญ่ที่ล่าสุดได้เงินจาก Microsoft ไปลงทุนในส่วนของ Nook อีรีดเดอร์ชื่อดังอีกแบรนด์ จึงทำให้ในอนาคตเราอาจได้เห็น Windows ไปโลดแล่นบนอีรีดเดอร์ดังกล่าว เท่ากับเป็นการเพิ่มคู่แข่งเพิ่มอีกราย Ryan Jones จากบล็อก iamconcise ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ของ Apple ได้รับการแบ่งเป็น 3 ระดับราคาไล่ไปตั้งแต่ บน กลาง และล่าง โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมา Apple ใช้กลยุทธ์ 3 ประการในการอุดช่องว่างด้านราคา คือ 1. สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาโดยให้มีราคาถูกลง (iPod) 2. ขายฮาร์ดแวร์เก่าในราคาที่ต่ำกว่า (iPhone, iPad) และ 3. หาผู้ให้เงินหนุน (iPhone ในอเมริกาที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายคอยรองรับในส่วนนี้ ทำให้สามารถขายตัวเครื่องในราคาที่ถูก แต่ก็ต้องแลกมากับการติดสัญญาใช้งานตามข้อบังคับ) ปัจจุบันราคาเริ่มต้นของ The New iPad อยู่ที่ 499 เหรียญสหรัฐ จึงนับเป็นโมเดลระดับบน ส่วน iPad 2 เริ่มต้นที่ 399 เหรียญ จึงนับเป็นโมเดลระดับกลาง (ใช้กลยุทธ์ที่สองคือขายฮาร์ดแวร์เก่าในราคาต่ำ) ฉะนั้นก็เหลือแต่โมเดลในช่วงระดับราคา 399 เหรียญลงมา ที่มีความเป็นไปได้มากว่าอาจใช้ iPad Mini มาอุดช่องว่างด้านราคาตรงนี้ตามกลยุทธ์แรกเหมือนกับ iPod

กราฟแสดงช่วงระดับราคาของอุปกรณ์พกพา Apple

กราฟแสดงช่วงระดับราคาของอุปกรณ์พกพา Apple จากบล็อก iamconcise.com สามารถเติม iPad Mini ลงไปในช่วงราคาระดับล่างที่ยังว่างอยู่



Microsoft Surface ทำเองขายเอง จะรอดหรือ?

Surface

Surface

            ในที่สุด Microsoft ก็กระโดดลงมาเล่นตลาดแท็บเล็ตด้วยการเปิดตัว Surface แท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Windows 8 ที่แบ่งเป็นสองรุ่นย่อยคือ โมเดลที่ใช้ Windows RT กับโมเดลที่ใช้ Windows 8 Pro ทั้งสองโมเดลมีสเปคภายนอกที่คล้ายกัน โดยประกอบไปด้วยหน้าจอ 10.6 นิ้ว ชนิด ClearType HD Display รองรับคีย์บอร์ดทั้งแบบ Touch และ Type Cover พร้อมด้วยสารพันพอร์ตเชื่อมต่อภายนอกเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย สำหรับจุดที่ไม่เหมือนกันคือ โมเดลที่ใช้ Windows 8 Pro จะมีน้ำหนักและความหนาที่มากกว่า รองรับการใช้งานร่วมกับโปรแกรมทั่วไปบนเดสก์ท้อปได้ ในขณะที่โมเดล Windows RT จะใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันเมโทรได้อย่างเดียว เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ โมเดล Windows RT ก็เหมือนกับ iPad คือออกแบบมาสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป เน้นการใช้งานอย่างท่องเว็บ ดูหนัง ฟังเพลง ส่วนโมเดล Windows 8 Pro จะเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานขั้นสูงที่ต้องการใช้งานแท็บเล็ตเหมือนกับพีซีอีกตัว

            แน่นอนว่าเมื่อดูจากสเปคแล้วจะเห็นว่า Surface ของ Microsoft ไม่เพียงแต่ได้รับการออกแบบเพื่อบริโภคคอนเทนต์อย่างเดียวเหมือนกับ iPad เท่านั้น แต่ออกแบบมาเพื่อให้มีความเป็น productive หรือใช้สร้างสรรค์ผลงานได้ด้วย ดังจะเห็นได้จากรองรับคีย์บอร์ดและพอร์ตเชื่อมต่อมากมาย โมเดล Windows RT มีแอปป์ Office มาให้ในตัว ส่วนโมเดล Windows 8 Pro ก็รองรับโปรแกรมบนเดสก์ท้อปได้ ฟังดูช่างสะดวกสบายเสียจริง!

            อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ Surface ไว้มากมาย เริ่มจากการออกช้าหลังคู่แข่งนานนับปี มีแอปพลิเคชันและหน้าร้านน้อย จึงอาจดึงดูดผู้พัฒนาและกลุ่มลูกค้าได้ลำบาก รวมทั้งการที่ Microsoft ทำเองขายเองนั้นอาจบั่นทอนความสัมพันธ์ที่มีต่อคู่ค้าพีซีรายอื่น เช่น Dell และ HP ที่มีข่าวว่าจะพัฒนาแท็บเล็ต Windows 8 เช่นกัน และที่สำคัญคือ การที่แบ่ง Surface ออกเป็นสองโมเดลแทนที่จะเป็นข้อดีแต่อาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค

            แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคและมีผู้ตั้งข้อสังเกตมากเพียงไร Microsoft คงไม่สามารถผลิตซอฟท์แวร์อย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ถึงการเติบโตของแนวโน้มการใช้งานอุปกรณ์พกพาซึ่งล้วนส่งผลให้ยอดขายพีซีใกล้ถึงจุดอิ่มตัวและแน่นอนว่าต้องไปกระทบกับยอดขายซอฟท์แวร์ด้วยไม่มากก็น้อย ครั้นจะไปพึ่งพาผู้ผลิตรายอื่นทำฮาร์ดแวร์อย่างเดียวก็ดูเหมือนจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะสามารถดึงศักยภาพของซอฟท์แวร์ออกมาได้มากที่สุด อันเป็นปัญหาที่ Android กำลังเผชิญ เท่ากับว่าเหลืออยู่เพียงทางเลือกเดียวนั่นคือลงมาทำแท็บเล็ตขายเองเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ผลิตรายอื่นได้เห็น ทั้งนี้ เว็บไซต์ Business Insider ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ที่ผ่านมา Microsoft จะลงมาทำฮาร์ดแวร์ด้วย 2 เหตุผลหลักที่ล้วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ของ Windows  ทั้งสิ้น เหตุผลแรกคือ เห็นว่าฮาร์ดแวร์ของคู่แข่งอาจกระทบกับยอดขายของ Windows โดยตรง ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็คือ Xbox เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการพูดถึงว่าเครื่องเกมคอนโซลอาจมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของบ้านแทนที่พีซี ทางบริษัทจึงกระโดดลงมาทำเองเสียเลย แม้อาจกินส่วนแบ่งผู้ใช้ Windows ไปบ้าง แต่ก็ดีกว่ายอมเสียลูกค้าให้บริษัทอื่นไป ส่วนเหตุผลที่สองก็คือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน Windows เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การลงมาพัฒนาเมาส์และคีย์บอร์ดภายใต้แบรนด์ของตน เนื่องจากในช่วงที่ Windows เวอร์ชันแรกๆ วางตลาด ผู้ใช้งานทั่วไปยังไม่มีความคุ้นเคยกับอินเทอร์เฟสกราฟิกที่ใช้เมาส์คลิ้กมากนัก การลงมาทำฮาร์ดแวร์ให้ผู้ใช้และผู้ผลิตรายอื่นได้ตระหนักถึงศักยภาพของอินเทอร์เฟสใหม่ย่อมเป็นทางออกที่ดีในระยะยาว ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น

            และเหตุผลที่สองนี่เองซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ Microsoft หันมาพัฒนาแท็บเล็ต เพราะในสายตาของ Microsoft แล้ว แท็บเล็ตไม่ใช่ของใหม่ แต่หากคือพีซีที่เราสามารถพกไปไหนได้อย่างสะดวก ปัญหาคือยังไม่มีใครสามารถเข้าถึงประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริงเท่านั้น แต่ทั้งนี้ Microsoft คงต้องตอบคำถามหลายประการก่อน อาทิ ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดผู้พัฒนาแอปพลิเคชันให้ได้มากกว่า รวมทั้งราคาขายที่ต้องไม่แพงเกิน เพราะนอกจากจะไปชนกับคู่แข่งแล้ว ยังอาจล้ำเส้นไปกระทบกับตลาด Ultrabook ที่มีฟังชันใช้งานมากกว่า และสุดท้ายคือต้องทำฮาร์ดแวร์ให้เจ๋งจริง เพราะคำตอบสุดท้ายย่อมอยู่ที่เสียงตอบรับของผู้บริโภค



Google กับการแก้ปัญหา fragmentation


Nexus 7


            แน่นอนว่า Nexus 7 หาใช่แท็บเล็ต Android ตัวแรก เพราะก่อนหน้านี้เราก็ได้เห็นแท็บเล็ตหุ่นเขียวหลายรุ่น สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากมาย แต่นั่นกลับไม่ใช่คำตอบ เพราะการที่มีออปชันล้นเหลือนั้นไม่ได้หมายความว่าแต่ละตัวจะมอบประสบการณ์ใช้งานที่เหมือนกัน บางรุ่นขาดระบบสัมผัสที่ลื่นไหล บางรุ่นมีความละเอียดหน้าจอน้อยหรือมากกว่ารุ่นอื่น บางรุ่นขาดพอร์ตเชื่อมต่อที่รุ่นอื่นมี บางรุ่นอัปเดตไปใช้ Android ตัวใหม่ไม่ได้ ปัญหา fragmentation เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาให้กับนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่ต้องวุ่นวายทดสอบกับฮาร์ดแวร์หลายรุ่นเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหากับผู้บริโภคที่ต้องมานั่งปวดเพราะนึกไม่ออกว่าจะซื้อรุ่นใด

            จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ Microsoft พยายามหลีกเลี่ยงด้วยการลงมาพัฒนาฮาร์ดแวร์เอง ในการนี้ Google คงเห็นพ้องตรงกันว่า บริษัทคู่ค้าคงยังไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของซอฟท์แวร์ออกมาใช้ได้มากพอ จึงต้องการสร้างมาตรฐานให้เห็น นอกจากนั้น บางทีลูกค้ากระแสหลักอาจไม่ต้องการตัวเลือกฮาร์ดแวร์ที่หลากหลายใด ๆ แต่ต้องการประสบการณ์ใช้งานอันยอดเยี่ยมที่แสดงความสำเร็จให้เห็นแล้วในโมเดลของ Apple อีกทั้งในระยะยาวแล้วจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของ Android ให้ดียิ่งขึ้นและเป็นการสร้างกลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนบอยซึ่งมีความจงรักภักดีสูง สุดท้ายการลงมาทำฮาร์ดแวร์เองยังเป็นการเสริม ecosystem ของ Google Android ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะมีซอฟท์แวร์อยู่แล้ว ขาดแต่เพียงฮาร์ดแวร์ที่จะดึงศักยภาพออกมาใช้ให้ได้มากสุดเท่านั้น

            แต่กระนั้นก็ดี อนาคตของแท็บเล็ต Google ยังคงต้องดูกันอีกยาว เพราะข้อสังเกตคือ Google ขายแท็บเล็ตของตนผ่านทางออนไลน์เท่านั้น การที่ไม่มีหน้าร้านของตนให้ลูกค้าได้ทดลองใช้จริงอาจไม่สามารถสร้างความประทับใจได้ดีเท่า อีกทั้งต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักของ Google มาจากการโฆษณาออนไลน์ และอาจไม่ได้ตั้งใจลงมาพัฒนาฮาร์ดแวร์อย่างจริงจัง สุดท้ายก็คือ เช่นเดียวกับ Microsoft สิ่งที่ Google ต้องตอบให้ได้ก็คือ หากลงมาทำฮาร์ดแวร์เอง แล้วคู่ค้าเจ้าเก่าอย่าง Samsung หรือ Motorola ล่ะ? แน่นอน ทางบริษัทคงต้องพึ่งพิงคู่ค้าเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และปัญหา fragmentation ก็คงต้องอยู่ต่อไป แต่จะไปในทิศทางใดก็คงต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จของ Nexus 7 เองด้วย

            ช่วงครึ่งหลังของปีเราได้เห็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจในวงการแท็บเล็ตมากมาย หลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทั้งแท็บเล็ต 7 นิ้วจาก Apple หรือแท็บเล็ต Surface จาก Microsoft ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในแวดวงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แต่ละบริษัทกำลังเผชิญ แล้วคุณล่ะจะเลือกอยู่ค่ายไหน?



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผ่า! ทิศทางแท็บเล็ต 2012 ใครจะอยูใครจะไป? อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2555 เวลา 13:37:51
TOP