เกณฑ์ทหารไม่ผ่านเพราะอะไร รู้หรือไม่ โรคที่ขัดต่อการรับราชการทหารมีอะไรบ้าง และหากสงสัยว่าเราอาจเป็นโรคนั้นด้วยจะต้องไปตรวจร่างกายที่ไหนกันนะ อยากรู้ต้องอ่าน
ถึงเดือนเมษายนทีไร
ช่วงเวลาของการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ หรือที่เรียกกันว่า
"เกณฑ์ทหาร" จะกลับมาให้ชายไทยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป
และยังไม่เคยเข้ารับการฝึกวิชาทหาร ได้ลุ้นระทึกอีกครั้ง
เพราะหากใครที่ไม่มีเหตุให้ผ่อนผัน หรือได้รับการยกเว้น
ก็ต้องเสี่ยงดวงจับใบดำ-ใบแดงวัดกันไปเลยว่าจะต้องเป็นทหารหรือไม่
แต่ถึงกระนั้น
ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องไปวัดดวงด้วยการจับใบดำ-ใบแดงเหมือนคนอื่นเขา
หากเป็นบุคคลที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง
ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการรับราชการทหาร
แล้วรู้ไหมว่า...ป่วยเป็นโรคอะไรบ้างที่เป็นทหารไม่ได้ กระปุกดอทคอม นำคำตอบมาบอกให้รู้กันแล้ว !!!
แล้วรู้ไหมว่า...ป่วยเป็นโรคอะไรบ้างที่เป็นทหารไม่ได้ กระปุกดอทคอม นำคำตอบมาบอกให้รู้กันแล้ว !!!
จากข้อมูลของ กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ระบุว่า เมื่อชายไทยเข้ารับการตรวจเลือกทหาร จะถูกจัดออกเป็น 4 จำพวกตามผลการตรวจร่างกาย คือ
- คนจำพวกที่ 1 ได้แก่ คนที่มีร่างกายสมบูรณ์ดี ไม่มีอวัยวะพิการหรือผิดส่วนแต่อย่างใด มีความสูงตั้งแต่ 146 ซม. ขึ้นไป ขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 ซม. ขึ้นไป
- คนจำพวกที่ 2 คือ คนซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)
- คนจำพวกที่ 3 คือ คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้เพราะป่วย ซึ่งจะบำบัดให้หายภายใน 30 วันไม่ได้
- คนจำพวกที่ 4 คือ คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งมีโรค หรือสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถจะรับราชการทหารได้
โดยคนจำพวกที่ 4 นี่เอง ที่ระบุไว้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540)
ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร
พ.ศ. 2497 ว่า ไม่สามารถรับราชการทหารได้ ซึ่งต้องบุคคลที่มีโรคดังต่อไปนี้
(ก) ตาข้างหนึ่งข้างใดบอด คือ เมื่อรักษาและแก้สายตาด้วยแว่นแล้วการมองเห็นยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 7/60 หรือลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า 10 องศา
(ข) สายตาไม่ปกติ คือ เมื่อรักษาและแก้สายตาด้วยแว่นแล้วการมองเห็นยังอยู่ในระดับ 6/24 หรือต่ำกว่าทั้งสองข้าง
(ค) สายตาสั้นมากกว่า 8 ไดออปเตอร์ หรือสายตายาวมากกว่า 5 ไดออปเตอร์ทั้งสองข้าง
(ง) ต้อแก้วตาทั้งสองข้าง (Bilateral Cataract)
(จ) ต้อหิน (Glaucoma)
(ฉ) โรคขั้วประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ข้าง (Optic Atrophy)
(ช) กระจกตาอักเสบเรื้อรัง หรือขุ่นทั้งสองข้าง
(ซ) ประสาทการเคลื่อนไหวลูกตาไม่ทำงาน สูญเสียอย่างถาวร (เพิ่มตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
2. โรคหรือความผิดปกติของหู
(ก) หูหนวกทั้งสองข้าง คือต้องใช้เสียงในช่วงคลื่นความถี่ 500-2,000 รอบต่อวินาที หรือเกินกว่า 55 เดซิเบล จึงจะได้ยินทั้งสองข้าง
(ข) หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังทั้งสองข้าง
(ค) เยื่อแก้วหูทะลุทั้งสองข้าง
3. โรคของหัวใจและหลอดเลือด
(ก) หัวใจหรือหลอดเลือดพิการอย่างถาวร จนอาจเกิดอันตรายร้ายแรง
(ข) ลิ้นหัวใจพิการ
(ค) การเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างถาวร จนอาจเกิดอันตรายร้ายแรง
(ง) โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาจเป็นอันตราย
(จ) หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
(ฉ) หลอดเลือดภายในกะโหลกศีรษะโป่งพองหรือผิดปกติชนิดที่อาจเป็นอันตราย
4. โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด
(ก) โรคเลือดหรืออวัยวะสร้างเลือดผิดปกติอย่างถาวรและอาจเป็นอันตราย
(ข) ภาวะม้ามโต (Hypersplenism) ที่รักษาไม่หายและอาจเป็นอันตราย
5. โรคของระบบหายใจ (แก้ไขตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
(ก) โรคหืด (Asthma) ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์การวินิจฉัย
(ข) โรคทางปอดที่มีอาการไอ หอบเหนื่อย และมีการสูญเสียการทำงาน ของระบบทางเดินหายใจ โดยตรวจสอบสมรรถภาพปอดได้ค่า Forced Expiratory Volume in One second หรือ Forced Vital Capacity ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของค่ามาตรฐานตามเกณฑ์
(ค) โรคความดันเลือดในปอดสูง (Pulmonary Hypertension) ซึ่งวินิจฉัยโดยการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) หรือโดยการใส่สายวัดความดันเลือดในปอด
(ง) โรคถุงน้ำในปอด (Lung Cyst) ที่ตรวจวินิจฉัยได้โดยภาพถ่ายรังสีทรวงอก หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด
(ฉ) โรคหยุดการหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งวินิจฉัยโดยการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography)
6. โรคของระบบปัสสาวะ
(ก) ไตอักเสบเรื้อรัง
(ข) กลุ่มอาการไตพิการ (Nephrotic Syndrome)
(ค) ไตวายเรื้อรัง
(ง) ไตพองเป็นถุงน้ำแต่กำเนิด (Polycystic Kidney)
7. โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ
(ก) โรคข้อหรือความผิดปกติของข้อ ดังต่อไปนี้ (แก้ไขตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
- ข้ออักเสบเรื้อรัง (Chronic arthritis)
- ข้อเสื่อมเรื้อรัง (Chronic osteoarthritis)
- โรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Spondyloarthropathy)
(ข) แขน ขา มือ เท้า นิ้ว อย่างใดอย่างหนึ่งผิดปกติ ดังต่อไปนี้
- แขน ขา มือ หรือเท้า ด้วน หรือพิการ ถึงแม้ว่าจะรักษาด้วยวิธีใหม่ที่สุดแล้วก็ยังใช้การไม่ได้
- นิ้วหัวแม่มือด้วนจนถึงข้อปลายนิ้วหรือพิการถึงขั้นใช้การไม่ได้
- นิ้วชี้ของมือด้วนตั้งแต่ข้อปลายนิ้ว
- นิ้วมือในมือข้างเดียวกันตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไปด้วนจนถึงข้อปลายนิ้วหรือพิการถึงขั้นใช้การไม่ได้
- นิ้วหัวแม่เท้าด้วนจนถึงข้อปลายนิ้วหรือพิการถึงขั้นใช้การไม่ได้
- นิ้วเท้าในเท้าข้างเดียวกัน ตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไปด้วนจนถึงข้อปลายนิ้ว หรือพิการถึงขั้นใช้การไม่ได้
- นิ้วเท้าในเท้าแต่ละข้างตั้งแต่หนึ่งนิ้วขึ้นไปด้วนจนถึงข้อปลายนิ้วหรือพิการ ถึงขั้นใช้การไม่ได้
- นิ้วเท้าในเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ตั้งแต่หนึ่งนิ้วขึ้นไปด้วนจนถึงข้อโคนนิ้วหรือพิการจนถึงขั้นใช้การไม่ได้
(ค) คอเอียงหรือแข็งทื่อชนิดถาวร
(ง) กระดูกสันหลังโก่งหรือคดหรือแอ่นจนเห็นได้ชัด หรือแข็งทื่อชนิดถาวร
(จ) กล้ามเนื้อเหี่ยวลีบหรือหดสั้น (Atrophy or Contracture) จนเป็นผลให้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดใช้การไม่ได้
8. โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาบอลิซึม
(ก) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยไปอย่างถาวร
(ข) ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยไปอย่างถาวร
(ค) ภาวะต่อมใต้สมองผิดปกติอย่างถาวร
(ง) เบาหวาน
(จ) ภาวะอ้วน (Obesity) ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย (Body Mass Index) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัม ต่อตารางเมตรขึ้นไป
(ฉ) โรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของแร่ธาตุ สารอาหารดุลย์สารน้ำอีเล็กโทรไลท์ และกรดด่าง ตลอดจนเมตาบอลิซึมอื่น ๆ ชนิดถาวร และอาจเป็นอันตราย
(ช) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism) (เพิ่มตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
9. โรคติดเชื้อ
(ก) โรคเรื้อน
(ข) โรคเท้าช้าง
(ค) โรคติดเชื้อเรื้อรังระยะแสดงอาการรุนแรง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
10. โรคทางประสาทวิทยา
(ก) จิตเจริญล่าช้า (Mental Retardation) ที่มีระดับเชาว์ปัญญา 69 หรือต่ำกว่านั้น
(ข) ใบ้ (Mutism) หรือพูดไม่เป็นภาษา หรือฟังภาษาไม่รู้เรื่อง (Aphasia) ชนิดถาวร
(ค) ลมชัก (Epilepsy) หรือโรคที่ทำให้มีอาการชัก (Seizures) อย่างถาวร
(ง) อัมพาต (Paralysis) ของ แขน ขา มือ หรือเท้าชนิดถาวร
(จ) สมองเสื่อม (Dementia)
(ฉ) โรคหรือความผิดปกติของสมอง หรือไขสันหลังที่ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างมากในการเคลื่อนไหวของแขนหรือขาอย่างถาวร
(ช) กล้ามเนื้อหมดกำลังอย่างหนัก (Myasthenia Gravis)
11. โรคทางจิตเวช (แก้ไขตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
(ก) โรคจิตที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง
- โรคจิตเภท (Schizophrenia)
- โรคจิตกลุ่มหลงผิด (Resistant Delusional Disorder, Induced Delusional Disorder)
- โรคสคิซโซแอฟเฟ็คทีป (Schizoaffective Disorder)
- โรคจิตที่เกิดจากโรคทางกาย (Other mental disorder due to brain damage and dysfunction)
- โรคจิตอื่น ๆ (Unspecified Nonorganic psychosis)
(ข) โรคอารมณ์แปรปรวนที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง
- โรคอารมณ์แปรปรวน (Manic Episode, Bipolar Affective Disorder)
- โรคอารมณ์แปรปรวนที่เกิดจากโรคทางกาย (Other mental disorder due to brain damage and dysfunction and to Physical Disorder)
- โรคอารมณ์แปรปรวนอื่น ๆ (Other Mood (Affective) Disorder, Unspecified Mood Disorder)
- โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder, Recurrent Depressive Disorder)
(ค) โรคพัฒนาการทางจิตเวช
- จิตเจริญล่าช้าที่มีระดับเชาว์ปัญญา 70 หรือต่ำกว่า (Mental Retardation)
- โรคหรือความผิดปกติในการพัฒนาการของทักษะทางสังคมและภาษา (Pervasive Developmental Disorder)
12. โรคอื่น ๆ
(ก) กะเทย (Hermaphrodism)
(ข) มะเร็ง (Malignant Neoplasm)
(ค) ตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic Hepatitis) (แก้ไขตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
(ง) ตับแข็ง (Cirrhosis of liver)
(จ) คนเผือก (Albino)
(ฉ) โรคลูปัสอิริธิมาโตซัสทั่วร่างกาย (Systemic Lupus Erythematosus)
(ช) กายแข็งทั่วร่างกาย (Systemic Sclerosis)
(ซ) รูปวิปริตต่าง ๆ ได้แก่
- จมูกโหว่
- เพดานโหว่หรือสูงหรือลิ้นไก่สั้นพูดไม่ชัด
(ฌ) โรคผิวหนังลอกหลุดตัวผิดปกติแต่กำเนิดชนิดเด็กดักแด้ (Lamellar Ichthyosis & Congenital Ichthyosiform Erythroderma) (เพิ่มตามกฎกระทรวงฯ ที่ 76)
ทั้งนี้ หากใครที่สงสัยว่าตัวเองมีโรคประจำตัวดังที่ระบุไว้ข้างต้น หรือมีสภาพร่างกาย และจิตใจดังที่น่าจะขัดต่อการรับราชการทหารกองประจำการ ต้องไปเข้ารับการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือก ณ โรงพยาบาลทหาร ที่ใดที่หนึ่งจากที่กำหนดไว้ 19 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคไว้เป็นการเฉพาะ ประกอบด้วย
- ส่วนกลาง : โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (กรุงเทพฯ), โรงพยาบาลอานันทมหิดล (ลพบุรี), โรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ (ประจวบคีรีขันธ์) และโรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (นครนายก)
- ทภ.1 : โรงพยาบาลค่ายจักรพงษ์ (ปราจีนบุรี), โรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ (กาญจนบุรี), โรงพยาบาลค่ายอดิศร (สระบุรี) และโรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี (ชลบุรี)
- ทภ.2 : โรงพยาบาลค่ายสุรนารี (นครราชสีมา), โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (อุบลราชธานี), โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม (อุดรธานี ), โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน (สุรินทร์) และโรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะรา (สกลนคร)
- ทภ.3 : โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พิษณุโลก), โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ (นครสวรรค์), โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี (ลำปาง) และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ (เชียงใหม่)
- ทภ.4 : โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ (นครศรีธรรมราช) และโรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์ (สงขลา)
และเมื่อตรวจร่างกายแล้ว บุคคลนั้นก็ต้องนำใบรับรองแพทย์ไปรายงานตัวให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย เพื่อพิจารณายกเว้นการเข้ารับการตรวจคัดเลือกต่อไป
กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน