เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก skyandtelescope.com
ดาวหางไอซอน (ISON) สลายตัวไปแล้ว หลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะห่างที่ใกล้มาก
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ดาวหางไอซอนได้สลายตัวลงไปแล้ว หลังจากโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะที่ใกล้มาก จนถูกความร้อนทำลายล้างกลายเป็นจุณ
โดยนักดาราศาสตร์ ได้เปิดเผยว่า จากการติดตามการโคจรของดาวหางไอซอน (ISON) ผ่านกล้องโทรทรรศน์ทั้งจากนาซาและองค์กรอวกาศยุโรป พบว่าดาวหางไอซอน หรือที่ถูกขนานนามว่า ดาวหางแห่งศตวรรษ ได้อันตรธานไปเมื่อเจอกับความร้อนสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส บวกกับแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดวงอาทิตย์ ระหว่างที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะห่างประมาณ 1 ล้านกิโลเมตร โดยมันอันตรธานไปเมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามเวลาสากล
อย่างไรก็ดี แม้ในที่สุดดาวหางไอซอนจะสลายไป แต่มันก็ได้ทิ้งภาพน่าประทับใจเอาไว้ ขณะที่มันกำลังเคลื่อนตัวมุ่งสู่ดวงอาทิตย์ โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักดูดาวทั้งหลายก็ได้ชื่นชมความงดงามของดาวหางดวงนี้ที่วาดหางยาวเฟื้อย บางคนก็แชะภาพมาให้ได้ชมกัน แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ก็น่าเสียดายที่ดาวหางดวงนี้ไม่ได้ปรากฏแสงสว่างไสวให้คนทั่วโลกได้ชมกันชัด ๆ เหมือนที่นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สำหรับดาวหางไอซอน ถูกค้นพบเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนที่มีหางวาดยาวกว่า 16 ล้านกิโลเมตร เป็นเพราะเมื่อมันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว น้ำแข็งรอบนอกของดาวระเหิดกลายเป็นก๊าซและฝุ่นขนาดมหึมาจนทำให้เห็นดาวหางเป็นดวงใหญ่ขึ้น ขณะที่รังสีของดวงอาทิตย์และลมสุริยะก็ทำให้หางของดาวกระพือออกเป็นลำยาวเป็นล้านกิโลเมตร และเมื่อฝุ่นก๊าซของดาวหางนี้สะท้อนกับดวงอาทิตย์เข้า ก็ทำให้เรามองเห็นดาวหางเป็นลักษณะวาดหางยาวพาดบนท้องฟ้าดังที่เห็นนี้