x close

สมาร์ทโฟนตายแล้ว! : เมื่อนวัตกรรมบนโทรศัพท์มือถือมาถึงทางตัน?




สมาร์ทโฟนตายแล้ว! : เมื่อนวัตกรรมบนโทรศัพท์มือถือมาถึงทางตัน?
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ecommerce-magazine.com

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์พกพาที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเรามากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Gartner รายงานว่ายอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาสสองที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยยอด 225 ล้านหน่วย ขณะที่ยอดขายของฟีเจอร์โฟนกลับลดลงถึงร้อยละ 21 ด้วยยอด 210 ล้านหน่วย จึงทำให้เป็นครั้งแรกที่ยอดขายสมาร์ทโฟนสามารถแซงหน้าฟีเจอร์โฟนไปได้ สำหรับในประเทศไทยก็มีสัดส่วนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในการเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน โดยดูได้จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2556 ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งพบว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่าเมื่อปีที่แล้วอย่างน่าสนใจ ขณะที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่เคยเป็นสุดยอดอุปกรณ์ไอทียอดนิยมกลับมีตัวเลขที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยอีกต่อไปว่าสมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์ที่ได้เข้ามาแทนที่พีซีในหลาย ๆ ด้านเป็นที่เรียบร้อย

          ร้อยละของผู้ตอบแบบสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2556 ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปรียบเทียบตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ปี 2555-2556

ลูกเล่นใหม่ตอบโจทย์ได้จริงหรือ?

          สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสมาร์ทโฟนได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพในการประมวลผลที่ดีขึ้นทุกปี จอสัมผัสที่ใหญ่ขึ้น มีความคมชัดสูง และสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนลูกเล่นเสริมที่ติดมากับเครื่อง เหล่านี้ได้ทำให้สมาร์ทโฟน "ฉลาดพอ" ที่จะเป็นอุปกรณ์สามัญประจำกายมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คนไม่น้อยตั้งคำถามว่าฟังชันหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นเข้ามานั้นได้ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นจริงหรือไม่?

          มีสมาร์ทโฟนใหม่ ๆ มากมายวางจำหน่ายตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แต่เราต้องการฟังชันต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตพากันยัดเยียดให้กับพวกเราหรือไม่?

          คงไม่เป็นที่น่ากังขาว่า iPhone คือแม่แบบของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ที่วางขายปัจจุบัน จุดเด่นที่สำคัญคือหน้าจอสัมผัสที่สามารถตอบสนองได้รวดเร็ว และอินเทอร์เฟสใช้ที่งานง่าย ซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ iPhone ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สมาร์ทโฟนจากคู่แข่งจำนวนไม่น้อยได้พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการเสริมฟังชันการใช้งานทั้งที่ไม่จำเป็นและ (อาจ) จำเป็นเข้าไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจอภาพและกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง หรือสารพันเซนเซอร์ที่ตรวจสอบคอยตรวจสอบลักษณะการใช้งาน การยัดเยียดฟังชันต่าง ๆ ที่มากเกินพอดีได้ทำลายแนวคิดว่าด้วยความเรียบง่ายที่ผู้ผลิตควรยึดถือ เพราะสมัยนี้คงไม่มีใครมาเสียเวลาอ่านคู่มือเป็นร้อย ๆ หน้า หรือเสียเวลาเรียนรู้การใช้งานเป็นวัน ๆ ผลก็คือผู้ใช้บางส่วนมองว่าฟังชันเหล่านี้เพิ่มความซับซ้อนขณะใช้งานมากขึ้นและไม่ได้มอบประโยชน์อะไรขึ้นมา จึงทำให้ในท้ายที่สุดสมาร์ทโฟนทุกรุ่นก็ดูเหมือน ๆ กัน

สมาร์ทโฟนตายแล้ว?

          ด้วยเหตุที่สมาร์ทโฟนในปัจจุบันขาดนวัตกรรมที่จะเข้ามาพลิกวิถีชีวิตหรือเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ผมจึงมองว่า อีกไม่ช้าสมาร์ทโฟนก็จะเข้าสู่โหมด "อิ่มตัว" เหมือนกับอุปกรณ์ไอที่อื่นที่เคยเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเรา เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก กล่าวคือถึงแม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะยังมีรุ่นใหม่วางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเพียงการอัปเกรดให้มีความเร็วมากขึ้นจนกระทั่งถึงในระดับที่เรียกว่า "เกินจำเป็น" เพราะไม่มีซอฟแวร์ใดที่จะสามารถดึงขุมพลังดังกล่าวมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ผลก็คือผู้บริโภคจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องใหม่ในทันที แต่จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อหมดอายุการใช้งาน

          แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันจะยังสามารถทำยอดขายได้อย่างน่าประทับใจดังตัวเลขจาก Gartner ที่ได้อ้างถึงในช่วงต้นบทความ แต่กลุ่มประเทศที่มียอดจัดส่งสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมากที่สุดไม่ใช่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอย่างอเมริกาหรือยุโรป แต่กลับเป็นในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้รองลงมา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตลาดของสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ราคาสูง ๆ อย่าง iPhone, Samsung Galaxy S หรือ HTC One Series นั้นได้เข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว และคงไม่สามารถทำยอดขายได้อย่างน่าประทับใจอีกต่อไป ตลาดที่เหลืออยู่ก็คือกลุ่มผู้ใช้งานที่มีกำลังซื้อปานกลางไปจนถึงต่ำ และนี่เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ Apple เปิดตัว iPhone 5C ที่มีราคาขายถูกลงมา และผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Android ซอยรุ่นย่อยที่มีราคาถูกออกมานับไม่ถ้วน เท่ากับโอกาสในการขยายตลาดยังมีอยู่ แต่เหล่านี้ไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่าเราจะได้เห็นนวัตกรรมที่จะทำให้เราตาลุกวาวเหมือนกับที่ Apple เคยทำได้หรือไม่

          ชาร์ตที่แสดงส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง



อุปกรณ์สวมใส่ : อนาคตอยู่ที่นี่

          เนื่องจากพัฒนาการของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันดูเหมือนกับจะเป็นการ "วิวัฒน์" มากกว่าที่จะเป็นการ "ปฏิวัติ" ดังที่ได้กล่าวไป จึงมีผู้แสดงความเห็นว่าอนาคตของคอมพิวเตอร์จะอยู่ที่อุปกรณ์ซึ่งสามารถสวมใส่เข้ากับร่างกาย เช่น นาฬิกาข้อมือ หรือแว่นตา เสียมากกว่า เพราะยังมีที่ทางให้สร้างสรรค์นวัตกรรมเข้าไปได้อีก

          ลองคิดดูว่าคงจะสะดวกไม่น้อยที่ศัลยแพทย์ในอนาคตจะสามารถใช้แว่นตาไฮเทคในการดูรายละเอียดอื่นที่จำเป็นของคนไข้ขณะทำการผ่าตัด หรือผู้ขับขี่ยานพาหนะจะสามารถดูข้อมูลเส้นทางโดยที่ไม่ต้องละสายตาไปจากถนน อัตราการเสียชีวิตคงน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อได้นวัตกรรมอัจฉริยะเข้ามาช่วยเหลือ

          เป็นเรื่องน่าท้าทายที่ว่า กว่าอุปกรณ์สวมใส่กับร่างกายจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้อาจต้องใช้เวลาสักระยะ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการยอมรับจากผู้บริโภค ประสิทธิภาพ และความสามารถ เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับร่างกายของเรามากขึ้น ก็คงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้งาน โจทย์อันท้าทายอย่างยิ่งก็คือจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้บริโภคคิดได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้คือสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ที่ดูดี และต้องไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ แต่กว่าที่จะไปถึงจุดนั้นได้ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะรองรับการทำงานอันซับซ้อนและสามารถประมวลผลเป็นอย่างดีได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นอย่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพราะไม่เช่นนั้นผู้บริโภคก็คงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเสียเงินซื้อ รวมไปถึงอายุการใช้งานต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งที่ต้องมากพออย่างสมเหตุสมผล สองปัจจัยดังกล่าวคือจุดอ่อนที่อุปกรณ์สวมใส่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้ ตลาดผู้ใช้งานจึงยังมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ภาระส่วนหนึ่งก็จะต้องตกอยู่กับผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ว่าจะสามารถพัฒนาซอฟแวร์เสริมที่จะสามารถดึงจุดเด่นของอุปกรณ์ออกมาได้มากน้อยเพียงใด สามารถเสริมคุณสมบัติจนทำให้อุปกรณ์สวมใส่กลายเป็นสิ่งจำเป็นได้หรือไม่ หรืออาจจะได้เป็นเพียง "ลูกเล่น" ที่อีกไม่นานก็ถูกลืมไปตามกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

          Galaxy Gear อุปกรณ์สวมใส่ในรูปแบบนาฬิกาข้อมือจาก Samsung ซึ่งยังคงมีจุดอ่อนที่หลายฟังชันต้องใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนและแบตเตอรี่ต้องต้องชาร์จแทบวันต่อวัน



สรุป

          ปัจจุบันสมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ โดยดูได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับการเปิดตัวต่างอัดแน่นไปด้วยฟังชันเสริมต่าง ๆ มากมาย แต่น่าเสียดายที่มันได้กลายมาเป็นเพียงลูกเล่นไว้สำหรับสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยที่ไม่ได้มอบประสบการณ์ใช้งานที่เป็นประโยชน์จริง ๆ มากเท่าใดนัก เหมือนกับพีซีที่รุ่นออกมาใหม่นั้นก็ไม่ได้สร้างความตื่นตาอะไร เพราะมีเพียงความเร็วที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดระดับบน (ซึ่งมักเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรม) ของสมาร์ทโฟนก็เข้าสู่จุดอิ่มตัว จึงทำให้โอกาสที่จะได้เห็นแนวคิดใหม่ ๆ นั้นน้อยลงไปอีก

          เพราะฉะนั้นอีกไม่นาน สมาร์ทโฟนก็คงจะต้องหลีกทางให้กับอุปกรณ์ไอทีอื่นที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเรา หนึ่งในนั้นก็คืออุปกรณ์ชนิดสวมใส่ที่จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนได้ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีเข้าไปอีกขั้น แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้ ผู้ผลิตต้องสามารถชี้ชวนผู้บริโภคเห็นความจำเป็นของการใช้งาน ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยด้านฮาร์ดแวร์ที่จะมีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ปราศจากการพึ่งพาฮาร์ดแวร์ชิ้นอื่น และซอฟแวร์ที่จะต้องมีความหลากหลาย สามารถดึงประสิทธิภาพและคุณสมบัติเด่นออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่เช่นนั้นตลาดของอุปกรณ์ประเภทนี้คงมีอยู่อย่างจำกัด ไม่แพร่หลายหรือได้รับการยอมรับอย่างที่อุปกรณ์อื่นสามารถทำได้มาก่อนหน้านั้น


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมาร์ทโฟนตายแล้ว! : เมื่อนวัตกรรมบนโทรศัพท์มือถือมาถึงทางตัน? อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:27:58 1,092 อ่าน
TOP