
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ NASAexplorer สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
นาซา เผย พบหุบเขายักษ์กินพื้นที่ถึง 800 กิโลเมตร ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งนานกว่า 4 ล้านปี บนเกาะกรีนแลนด์ เชื่อว่าไม่เคยมีผู้ใดพบเห็นมาก่อน
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556 องค์การนาซาเผยว่า ภายใต้แผ่นน้ำแข็งความหนากว่า 3 กิโลเมตร ที่ปกคลุมทั่วทั้งเกาะกรีนแลนด์ บริเวณมหาสมุทรอาร์กติก นั้น แท้จริงแล้วมีหุบเขายักษ์ที่มีความลึกกว่า 800 เมตร อีกทั้งกินระยะทางถึง 800 กิโลเมตร ซ่อนตัวอยู่ โดยทอดตัวผ่านใจกลางไปสิ้นสุดลงที่ธารน้ำแข็งปีเตอร์แมน ทางตอนเหนือของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งขนาดของหุบเขาแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่า แกรนด์ แคนยอน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และหุบเขาใหญ่อีกหลายแห่งในโลกเลยทีเดียว
การค้นพบหุบเขาแห่งใหม่บนเกาะกรีนแลนด์ในครั้งนี้ เกิดจากความบังเอิญในระหว่างที่นาซากำลังหาข้อมูล เพื่อวิจัยเรื่องผลกระทบของหินชั้นล่างที่อยู่ใต้ชั้นดินและชั้นทราย ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วยอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Multichannel Coherent Radar Depth Sounder สำหรับตรวจสอบความหนาแน่นและรูปร่างของหินแข็งชั้นใต้ดิน ที่พัฒนาขึ้นมาโดยศูนย์รีโมทเซ็นซิ่งแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ IceBridge ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องน้ำแข็งขั้วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปี พ.ศ. 2555
นอกจากนี้นาซายังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบครั้งใหม่นี้อีกด้วยว่า หุบเขาบนเกาะกรีนแลนด์เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ จากแม่น้ำสายใหญ่ เมื่อ 4 ล้านกว่าปีก่อน ก่อนที่เกาะจะถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งในเวลาถัดมา อีกทั้ง ศาสตราจารย์เดวิด วอแกน จากกลุ่มบริติช แอนตาร์กติก เซอร์เวย์ ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า หุบเขาแห่งนี้อาจเคยปรากฏให้เห็นแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงระหว่างยุคน้ำแข็ง เมื่อ 100,000 ปีก่อน แต่สาเหตุที่ไม่มีผู้ใดเคยเห็นหุบเขาแห่งนี้ เพราะไม่เคยไม่มนุษย์เข้าไปอาศัยในบริเวณดังกล่าว มีเพียงแบคทีเรียหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หุบเขาแห่งนี้มีความลึกถึง 800 เมตร เป็นเพราะน้ำหนักของแผ่นน้ำแข็งที่กดทับ ทำให้พื้นดินบริเวณตอนกลางของเกาะยุบตัวลง เป็นผลให้ความสูงของพื้นดินจากระดับน้ำทะเลมีค่าเฉลี่ยน้อยลง จากความสูงที่ 500 เมตร เหลือเพียง 200 เมตร และน่าจะลึกมากกว่าเดิม เนื่องจากมียังคงมีรายการการทรุดตัวของแผ่นดิน ส่วนน้ำที่ละลายจากแผ่นน้ำแข็งก็ไหลไปรวมตัวกันที่จุดที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ที่อยู่บริเวณทางบนสุดของกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นผลให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หุบเขาแห่งนี้จะต้องมีความสำคัญกับการลำเลียงน้ำที่ละลายจากแผ่นน้ำแข็งไปยังมหาสมุทรอย่างแน่นอน
ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการละลายตัวของน้ำแข็งทั้งหมดบนเกาะกรีนแลนด์ ก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เมตร และถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่กับเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
