x close

พบพลังงานปริศนาในห้วงอวกาศ ปล่อยพลังงานมหาศาล


 นักวิทย์พบพลังงานปริศนาในห้วงอวกาศ ปล่อยพลังงานมหาศาล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก arstechnica.com

          เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบเรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อพบคลื่นพลังงานมหาศาล ที่ปรากฏขึ้นในระยะเวลาเพียงเสี้ยวของเสี้ยววินาที แต่ที่ทำให้นักดาราศาสตร์ประหลาดใจก็คือมันปล่อยพลังงานออกมามากพอ ๆ กับที่ดวงอาทิตย์ส่งออกมาตลอด 300,000 ปีเลยด้วยซ้ำ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างพากันมาขบคิดว่าอะไรกันที่จะปล่อยพลังงานออกมามากขนาดนั้น

          ความสงสัยเกี่ยวกับพลังงานปริศนาดังกล่าวนี้ ได้ทำให้เกิดทฤษฎีหลากหลาย นำโดยทฤษฎีแรกที่ว่าพลังงานดังกล่าว เกิดจากดาวนิวตรอน ซึ่งเป็นดาวที่มีขนาดเล็กมากและมีความหนาแน่นสูง ถูกดูดกลืนเข้าไปในหลุมดำ ซึ่ง เฮโน ฟอล์ค ตัวแทนจาก New Scientist ได้อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ว่า เมื่อหลุมดำก่อตัวขึ้น มันจะดึงดูดสนามแม่เหล็กจากดวงดาวต่าง ๆ จนหลุดออกไม่ต่างจากหนังยางเลยทีเดียว

         ในขณะที่อีกทฤษฎีตั้งข้อสงสัยว่ามันน่าจะเกิดจาก แมกเนตาร์ ดาวนิวตรอนชนิดหนึ่งที่มีสนามแม่เหล็กสูงเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งข้อสังเกตอื่น ๆ อีกมาก รวมไปถึงทฤษฎีน่าสนใจของ เจมส์ คอร์ด นักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่เชื่อว่ามันอาจเป็นดาวนิวตรอนมารวมตัวกัน แล้วค่อย ๆ ถูกหลุมดำกลืนกิน หรือสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ใช่ดวงดาวไปเลยก็ได้

          ทั้งนี้ พลังงานปริศนานี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน และล่าสุดก็ได้พบพลังงานที่ว่านี้ถึง 4 ครั้งผ่านกล้องโทรทรรศน์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย จึงได้สรุปกันว่ามันน่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เฉลี่ยทุก 10 วินาที แต่ที่เรามองเห็นมันเพียงไม่กี่ครั้ง เป็นเพราะกล้องโทรทรรศน์ไม่ใหญ่พอจะมองเห็นภาพรวมได้ เราจึงมองเห็นได้เฉพาะจุด ต้องรอจังหวะที่บังเอิญมาตรงกันเท่านั้น

          อย่างไรก็ดี ไม่ว่าพลังงานปริศนานี้จะเป็นอะไร และมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม แต่เนื่องจากมันอยู่ในตำแหน่งไกลออกไปจากทางช้างเผือก ทำให้เชื่อว่ามันมีอายุอย่างน้อย 6-9 พันล้านปีเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นยังเชื่อว่ามันอาจเป็นกุญแจไขคำตอบว่าก๊าซแบบไหน เป็นตัวแบ่งช่องว่างระหว่างกาแล็กซีอยู่ก็ได้




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พบพลังงานปริศนาในห้วงอวกาศ ปล่อยพลังงานมหาศาล อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2556 เวลา 20:44:53 1,939 อ่าน
TOP