ขอขอบคุณภาพประกอบจาก space.com
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์เดลี่เมลของอังกฤษรายงานว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ขึ้นเกิดจากการร่วมมือระหว่างองค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป สำรวจพบ HD 189733b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่มีสีน้ำเงินคล้ายคลึงกับโลก หลังตรวจสอบด้วย Albedo หรือเทคโนโลยีการวัดอัตราแสงสะท้อนของดวงอาทิตย์บนพื้นผิว
ทั้งนี้ดาวเคราะห์ HD 189733b ถูกค้นพบเมื่อประมาณเดือนตุลาคม ของปี ค.ศ. 2005 แต่ในขณะนั้นไม่สามารถระบุสีและลักษณะที่ชัดเจนได้ จนกระทั่งมีการตรวจสอบอีกครั้งด้วยการวัดอัตราแสงสะท้อนของดวงอาทิตย์ จากการตรวจสอบครั้งนี้ทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ดังกล่าวมีสีน้ำเงินเช่นเดียวกันกับโลก ซึ่งสีน้ำเงินที่พบนั้นไม่ใช่แสงที่สะท้อนจากมหาสมุทร แต่เป็นแสงสะท้อนจากอนุภาคของซิลิเกตซึ่งเป็นแร่ที่กระจายตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังเป็นดาวเคราะห์ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแก๊สขนาดใหญ่ โดยภายในมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ความเร็วลม 7,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนฝนที่ตกลงมาก็ยังมีลักษณะคล้ายกับเศษกระจกอีกด้วย
ศาสตราจารย์เฟดดริก ปองต์ จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ และผู้นำโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาสามารถตรวจหาสีที่แท้จริงของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ และการวัดอัตราแสงสะท้อนของอาทิตย์บนพื้นผิว ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสีบนดาวเคราะห์ด้วย ทางด้าน ทอม อีวาน หนึ่งในผู้ร่วมทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวเพิ่มเติมว่า แสงสว่างของ HD 189733b ตกอยู่ในช่วงสเปคตรัมหลังจากเคลื่อนตัวผ่านดาวฤกษ์ จากจุดนี้เองที่ทำให้เราทราบว่าดาวเคราะห์ดังกล่าวมีสีน้ำเงินเช่นเดียวกันกับโลก
โดย HD 189733b อยู่ห่างจากโลกประมาณ 63 ปีแสง จัดอยู่ในกลุ่มดาวจูปิเตอร์ร้อน มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับดาวแก๊สขนาดใหญ่ในระบบสุริยะ และมีขนาดใกล้เคียงกับดาวแม่หรือ HD 189733 โดยใช้เวลาโคจรประมาณ 2.2 วันต่อรอบ จากการศึกษา HD 189733b นับเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้การระบุสีสันของดาวต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องยาก แม้จะเป็นดาวฤกษ์ในระบบสุริยะก็ตาม แต่การตรวจสอบในครั้งนี้ทำให้ข้อสงสัยต่าง ๆ คลี่คลายลงไปมาก และน่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ในไม่ช้า ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับสีของ HD 189733b ที่ถูกค้นพบจะถูกนำไปตีพิมพ์ลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters ต่อไป