เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nasa.gov
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า บนดาวเคราะห์กว่า 60,000 ล้านดวงในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกอาจสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริง เพราะมีดวงดาวหลายล้านดวงอยู่ในเขตเอื้อต่อการมีชีวิต และโคจรรอบดาวฤกษ์เหมือนกับโลก
รายงานระบุว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า บนดาวเคราะห์อื่น ๆ กว่า 60,000 ล้านดวง มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริง โดยรวบรวมข้อมูลมาจากยาวอวกาศเคปเลอร์ขององค์การนาซา ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2009 ซึ่งจากการสำรวจของยานอวกาศดังกล่าวทำให้พวกเขาทราบว่าในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก มีดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือลักษณะภายนอก
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้ทำแบบจำลอง 3 มิติขึ้นมา เพื่อสำรวจและวิเคราะห์สัญญาณความเย็นช่วงกลางวันบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ด้วย เนื่องจากสัญญาณเหล่านั้นทำให้พวกเขาทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดมวลเมฆ และภาวะที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาระบบตรวจสอบน้ำบนดาวเคราะห์ที่จะนำมาใช้กับหอดูดาว เจมส์เวบบ์ (JWST) ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในปีค.ศ. 2018 ด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวตรงกับการศึกษา และข้อมูลการสำรวจทางอวกาศที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก และมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นนำมาอ้างว่า ดาวเคราะห์ในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกกว่า 60,000 ล้านดวงที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากภายนอกของดาวเคราะห์เหล่านั้นมีมวลเมฆลอยตัวอยู่บนชั้นบรรยากาศ
ด้านนายโดเรียน แอบบอต ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก อธิบายเพิ่มเติมว่า มวลเมฆเหล่านั้นจะคอยทำหน้าที่สะท้อนความร้อนและดูดซับรังสีจากที่แผ่มาจากดาวอื่น ๆ เป็นผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งมีอุณหภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า บนดาวเคราะห์เหล่านั้นจะต้องมีน้ำอยู่อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ในตอนนี้มีดาวเคราะห์เพียง 10 ดวงเท่านั้น ที่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์และสามารถยืนยันแล้วว่า น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง ๆ