ขอขอบคุณภาพประกอบจาก historybyzim.com , wikipedia.org
หากจะพูดถึงสุนัขอวกาศที่ชื่อว่า ไลก้า แล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจเคยคุ้นชื่อของมันมาก่อน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ประวัติที่แท้จริงของสุนัขอวกาศตัวแรกของโลกตัวนี้ ที่การจากไปของมัน นับว่าเป็นการอุทิศชีวิตเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถเอาความรู้ไปพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่อวกาศได้อีกก้าว เรียกได้ว่าหากไม่มีมันแล้ว ทุกวันนี้อาจยังไม่มีใครกล้าเอามนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศเลยก็ได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำเรื่องราวของเจ้าไลก้ามาฝากกัน เพื่อให้คนที่ยังไม่รู้จัก หรือแค่ได้ยินชื่อมันมาแล้วบ้าง ได้รู้จักกับมันอย่างลึกซึ้งขึ้นอีกหน่อย
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี 1957 สหภาพโซเวียตได้ส่งยานสปุตนิค 1 ขึ้นไปเป็นดาวเทียมที่โคจรรอบโลกลำแรก และต่อมา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1957 สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งสปุตนิค 2 ตามไปอีกหนึ่งลำ เพื่อเป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่โคจรรอบโลก แต่การส่งยานออกไปครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งที่ส่งสปุตนิค 1 ขึ้นไปมากนัก เพราะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ข้างในด้วย ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นก็คือสุนัขชื่อ "ไลก้า" นั่นเอง
ไลก้าเป็นสุนัขเพศเมีย (ถึงแม้หลายคนอาจเข้าใจผิดว่ามันเป็นตัวผู้เพราะภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ก็เถอะ) โดยมันเป็นเพียงสุนัขจรจัดธรรมดามาก่อน และเหตุผลที่ทางสหภาพโซเวียตเลือกมัน ก็เพราะเชื่อว่าสุนัขจรจัดน่าจะแข็งแกร่งและสู้ชีวิต น่าจะเอาตัวรอดได้มากกว่าสุนัขที่คนนำมาเลี้ยงกันมากอยู่แล้ว
ไลก้าจึงได้เข้าไปฝึกฝนตัวเองเหมือนเป็นนักบินอวกาศจริง ๆ เพื่อเข้ารับภารกิจนี้ อย่างไรก็ดี ตอนนั้นมนุษย์ยังไม่มีความรู้เรื่องอวกาศ และเทคโนโลยีเทียบเท่าทุกวันนี้ สหภาพโซเวียตจึงไม่ได้วางแผนสำหรับการกลับมาของไลก้าแต่แรก เรียกได้ว่าภารกิจนี้หมายถึงความตายของไลก้ามาตั้งแต่ต้น
แน่นอนว่าเมื่อมนุษย์ไม่มีความรู้ใดเกี่ยวกับอวกาศในขณะนั้น เจ้าไลก้าก็ตายไปตามคาด แต่สาเหตุที่แท้จริงของจุดจบชีวิตของไลก้านั้น ทางสหภาพโซเวียตไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนแต่อย่างใด ซึ่งนั่นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันออกไปต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเพราะขาดอากาศหายใจตาย หลังอยู่ในกระสวยอวกาศได้ 6 วันบ้าง ทรมานอดข้าวอดน้ำจนตายบ้าง ก่อนที่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตจะทำให้ความจริงเปิดเผยว่า มันตายตั้งแต่อยู่ในกระสวยได้ไม่กี่ชั่วโมงแล้ว เพราะความตื่นกลัวทำให้มันช็อกตายนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาหลังจากที่ไลก้าตายไป ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะยุบลง พวกเขายังได้เอาสัตว์ขึ้นไปทดลองอีกหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 19 สิงหาคม ปี 1960 เมื่อกระสวยอวกาศสปุตนิค 5 ที่มีทั้งสุนัข 2 ตัว ชื่อว่า เบลกา และ สเตรลกา, กระต่าย 1 ตัว, หนูขาวเล็ก 40 ตัว, หนู 2 ตัว รวมไปถึงพวกแมลงและพืชพรรณอื่น ๆ ออกไปท่องอวกาศ สุดท้ายทุกชีวิตก็กลับมาอย่างปลอดภัย เป็นภารกิจที่สมบูรณ์ครั้งแรก แถมเจ้าสเตรลกายังกลับมาพร้อมลูก ๆ ถึง 6 ตัวอีกต่างหาก ซึ่งหนึ่งในลูกของมันได้ถูกมอบให้แคโรไลน์ ลูกสาวของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี เป็นของขวัญ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละตัวเองของไลก้า ในปี 2008 ชาวรัสเซียได้สร้างอนุสาวรีย์ของไลก้าขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นรูปสุนัขยืนอยู่บนจรวด ซึ่งถ้าหากใครอยากไปชมอนุสรณ์สถานของเจ้าหมาน้อยที่อุทิศชีวิตของตัวเองเพื่อมนุษย์(แบบไม่รู้ตัว)ตัวนี้แล้วละก็ อนุสาวรีย์ของไลก้าตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ค้นคว้าวิจัยทางทหาร ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย